เอกองค์อัครศิลปิน
เอกองค์อัครศิลปิน
พระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ
ความสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพของพระองค์เป็นไปอย่างลึกซึ้ง เพราะทรงให้ความสำคัญเสมือนเป็น “อาชีพ” พระองค์ได้พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เพื่อลงพิมพ์ในนิตยสาร “สแตนดาร์ด” ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรไชยากร แม้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ แล้วก็ยังทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ในการถ่ายภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดที่จะถ่ายภาพบุคคลที่พระองค์ทรงรักเสมอ นอกจากภาพพระบรมวงศ์แล้ว การถ่ายภาพพสกนิกรในโอกาสต่างๆ เป็นสิ่งที่ทรงโปรดปรานมาก เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่น เป็นต้น ทรงถ่ายภาพ ในขณะที่ประทับอยู่ ในรถยนต์พระที่นั่งที่กำลังแล่น ด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ทรงจับภาพได้อย่างสวยสมบูรณ์ ไม่ไหว ไม่ขาด ครบถ้วนด้วยเหตุการณ์และด้วยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นี้เอง ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญเกือบ ๔,๐๐๐ โครงการ หรือแม้แต่คราวที่เสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ภายหลังที่ทรงหายจากอาการพระประชวร พระองค์ทรงบันทึกภาพพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วยหมายจะทรงจดจำทุกดวงหน้าไว้ในพระราชหฤทัย
ดนตรี คือ หัวใจและวิญญาณ
“...เพราะว่าการดนตรีนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นศิลปะที่ทำให้เกิดความปิติ ความภูมิใจ ความยินดีความพอใจได้มากที่สุด...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ เฝ้าฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เพื่อสมทบทุน “โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์” ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
พระปรีชาสามารถด้านศิลปะที่มีอยู่เปี่ยมล้น ทำให้ทรงศึกษาตามทฤษฎีแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทรงพัฒนาการทรงดนตรีได้ก้าวไกลเหลือคณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระปรีชาสามารถในดนตรีแจ๊ส ซึ่งนอกจากจะทรงเป็นนักดนตรีผู้รักการเล่นดนตรีด้วยความปราดเปรื่องแล้ว ยังทรงเป็นผู้ถ่ายทอดในฐานะของ “ครู” ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วยดังจะเห็นได้จากทรงฝึกหัดดนตรีให้กับแพทย์และราชองครักษ์ผู้ถวายการอภิบาล จนเกิดเป็นวงดนตรี “สหาย พัฒนา” ขึ้น ในการนี้มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงเป็นนักดนตรีคนพิเศษในวงอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีดนตรีอยู่ในพระราชหฤทัยเสมอ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่สิ่งอื่นๆ ได้อย่างมากมาย ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานการพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อพระชนมพรรษาเพียง ๑๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” ในจังหวะบลูส์เป็นเพลงแรกและนับจากนั้นได้ก่อเกิดเพลงพระราชนิพนธ์ที่ล้ำค่ายิ่งพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นทำนองและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีผู้ประพันธ์คำร้องถวายรวมทั้งสิ้น ๔๘ เพลง โดยเป็นเพลงที่พระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษจำนวน ๕ เพลง เป็นเพลงที่พระราชนิพนธ์ทำนองพระราชทานใส่ในคำประพันธ์ที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว ๔ เพลง ทุกเพลงล้วนมีความหมายลึกซึ้งกินใจ มีอารมณ์เพลงที่แตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งบทเพลงชวนเคลิ้มฝันด้วยจินตนาการที่สุกสว่าง เติมเต็มให้เกิดพลัง ก่อเกิดความสดชื่นด้วยบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต หรือดวงใจกับความรัก ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นระหว่างพุทธศักราช ๒๔๘๙ - ๒๕๐๒ อันเป็นช่วงวัยที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความสดชื่นผ่องใส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” เพื่อโอบอุ้มจิตใจของประชาชนผู้ทุกข์ยากและผู้ลำบากจากความพิการตาบอดให้เต็มไปด้วยความสุขใจ พร้อมเผชิญโลกนี้ด้วยหัวใจชื่นบาน เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งแผ่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างกว้างขวางทำให้เกิดกระแสความคิดใหม่ พระองค์ทรงพยายามรวบรวมใจพสกนิกรให้เป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวไกล พระองค์จึงทรงผูกใจทุกคนด้วยบทเพลงที่พระราชทานประจำ มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลง “ยูงทอง” สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลง “เกษตรศาสตร์” สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อบ้านเมืองต้องประสบกับช่วงเวลาแห่งความสับสนและวุ่นวาย เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และการบ่อนทำลายจากศัตรูภายนอกประเทศระหว่างพุทธศักราช ๒๕๑๔ - ๒๕๑๙ ชาวไทยก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากบทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” “เราสู้” และ “เรา-เหล่าราบ ๒๑” เพื่อปลุกปลอบให้เกิดขวัญและกำลังใจ พร้อมฝ่าฟันผองภัยด้วยใจเป็นหนึ่งกระทั่งบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤต และก้าวไกลสู่ความมั่นคง ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของประเทศชาติ ทรงว่างเว้นการพระราชนิพนธ์เพลงไปนานนับ ๑๘ ปี แต่พระองค์ก็ยังทรงรักที่จะพระราชนิพนธ์เพลง ดังนั้นเมื่อทรงมีเวลาผ่อนคลาย จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “รัก” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ในบทกลอนพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “เมนูไข่” พระราชทานเป็นของขวัญวันคล้ายวันประสูติเวียนมาครบ ๗๒ พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
บทเพลงที่สร้างความสุขใจให้แก่ชาวไทยอีกบทเพลงหนึ่งคือ เพลง “พรปีใหม่” สะท้อนถึงพระเมตตาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพสกนิกรอยู่ในพระราชหฤทัยของพระองค์เสมอ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรในวาระแห่งความสุขให้แก่ประชาชนทุกคน ในวาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตและประทับเป็นการถาวรในประเทศเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นเพลงที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยตลอดเวลา และเสมือนได้รับพรในทุกวันขึ้นปีใหม่ตราบปัจจุบัน
ร่วมบรรเลง ร่วมประสานใจ
ดนตรีคือสื่อเชื่อมใจ เชื่อมสายสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดที่จะร่วมทรงดนตรีกับบุคคลต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “วงลายคราม” “วง อ.ส. วันศุกร์” และ “วงสหายพัฒนา” มีพระราชดำริให้กรมศิลปากรจัดทำประชุมโน้ตดนตรีไทยและพระราชทานทุนในการจัดพิมพ์ เพื่อรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นการบันทึกเพลงไทยด้วยโน้ตสากล เป็นการเผยแพร่วิชาดนตรีไทยไปสู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศเพื่อทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศช่วงพุทธศักราช ๒๕๐๕ - ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีพระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในหลายโอกาส ด้วยพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการดนตรีเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปสาธารณรัฐออสเตรีย ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข ๒๓ จากสถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา) เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗
แต้มเติมใจให้เต็ม ด้วยเส้นและสี
หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสมัครเล่นที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาททรงให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ๆ แปลกๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะทรงค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า “วัฏฏะ” “โลภะ” “โทสะ” “ยุแหย่” “อ่อนโยน” “บุคลิกซ้อน” ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะที่สวยงามกระจุ๋มกระจิ๋มได้ดีอีกด้วยทั้งที่ไม่สู้ตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกรขณะทรงงาน ทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนศิลปินอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดงานศิลปกรรมแห่งชาติเท่านั้น หากแต่ยังทรงร่วมแสดงผลงานฝีพระหัตถ์เพื่อให้พสกนิกรมีโอกาสชื่นชมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวนหนึ่งให้องค์กร Soka Gakkai International แห่งประเทศญี่ปุ่น นำไปจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ณ Tokyo Fuji Art Museum กรุงโตเกียว เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้รับความสนใจอย่างยิ่งกระทั่งได้นำไปแสดงต่อที่กรุงโอซาก้าด้วย