ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:18, 8 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม) (ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น [[ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริร�)

ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙

อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำพระชนมวารขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำพระราชวงศ์ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะหมายว่าเหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหารข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชรอันชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้น อันเหนือยิ่งกว่าเพชร อันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราษฏร์ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุข เป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นแก่ปวงพสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อชาติศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์

อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎประกอบพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระแส้หางช้างเผือกทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขามทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐอันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่ เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย สิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง ๕ คือ

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑
  • พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑
  • ธารพระกร ๑
  • พัดวาลวิชนีและพระแส้ ๑
  • ฉลองพระบาท ๑
หมายถึงปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทองเขียนอักษรสีทอง ความว่าฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ธุช เป็นวานรกายขาว มือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ฯ อยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบผูกเป็นภาพพระครุฑพ่าห์ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ฯ พื้นภาพตราสัญลักษณ์ฯ เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทองอันหมายถึงสีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครองทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติมา ณ บัดนี้ถึงมหามงคลสมัยที่จะฉลองเฉลิมพระเกียรติในการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อันยาวนานที่สุดยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในพระราชพงศาวดารในสยามประเทศ