หญ้าแฝก-ประโยชน์

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:23, 7 พฤศจิกายน 2551 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

การใช้ประโยชน์ของต้นหญ้าแฝกที่มีชีวิต

ต้นหญ้าแฝกที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดังต่อไปนี้

ป้องกันการพังทลายของดินเชิงเขา เป็นอาหารสัตว์
ป้องกันการพังทลายของดินเชิงเขา เป็นอาหารสัตว์
การใช้ประโยชน์แบบฉบับ (Conventional Uses) ได้แก่การใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการป้องกันสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น


การใช้ประโยชน์อื่นๆ (Other Uses) ได้แก่ การนำหญ้าแฝกที่ยังมีชีวิตอยู่ (นั่นคือไม่มีการเก็บเกี่ยว) ดังต่อไปนี้

  • อาหารสัตว์ (Forage) ใบหญ้าแฝกมีคุณค่าทางอาหารพอๆ กับหญ้าอื่น ๆ อีกทั้งยังไม่มีสารที่เป็นพิษ จึงไม่เป็นอันตรายต่อปศุสัตว์ หญ้าแฝกกลุ่มแหล่งพันธุ์กำแพงเพชร ๒ ให้คุณค่าทางอาหารสัตว์ดีกว่าแหล่งพันธุ์อื่นๆ มีโปรตีน ๕.๒ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง
  • ไม้ประดับ (Ornamental) ใบหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีรูปทรงของกอสวยงาม ใบมีทั้งตรงและห้อยย้อยจึงถูกนำไปใช้เป็นไม้ประดับ ทั้งในการปลูกลงดิน และในภาชนะ
สำหรับการปลูกลงดินนั้นหญ้าแฝกช่วยทำให้สวนหย่อม เฉลียงหน้าบ้าน ทางเดิน สวยงาม เมื่อปลูกชิดติดกันเป็นแถว หญ้าแฝกจะทำหน้าที่เป็นแนวรั้วที่สวยงาม อีกทั้งยังช่วยบดบังส่วนที่ไม่สวยงามของพื้นที่ พร้อมๆ กับทำหน้าที่อนุรักษ์ดินและน้ำของสถานที่นั่นๆ ดังเช่น พื้นที่ในสถานพักผ่อนหย่อนใจริมอ่างเก็บน้ำ ริมทางหลวง วงเวียนสนามกอล์ฟ เป็นต้น


การใช้ประโยชน์ของหญ้าแฝก

กิจกรรมการเกษตร

ประโยชน์ใช้ทำปุ๋ยหมัก
ประโยชน์ใช้ทำปุ๋ยหมัก
  • วัสดุคลุมดิน (Mulch) ในดินแดนเขตร้อนน้ำจะระเหยออกจากผิวดิน จากการแผดเผาของแสงแดดทำให้เกิดความแห้งแล้งแก่พืชที่ปลูกไว้ การใช้พืชคลุมดินเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดอันหนึ่งในการสงวนความชุ่มชื้นไว้ในดิน
  • ปุ๋ยหมัก (Compost) ส่วนต้นและใบหญ้าแฝกที่ถูกตัดออกมานี้ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักได้เช่นเดียวกับซากพืชชนิดอื่นๆ กล่าวคือ ภายในระยะเวลา ๖๐ - ๑๒๐ วัน ต้นและใบหญ้าแฝกจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างสมบูรณ์ ลักษณะอ่อนนุ่ม ยุ่ยสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ได้มีการคำนวณว่าปุ๋ยหมักจากใบหญ้าแฝก ๑ ตัน มีคุณค่าเทียบเท่ากับปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ๔๓ กิโลกรัม
  • แท่งเพาะชำ/วัสดุปลูกพืช (Nursery Block/Planting Medium) โครงการพัฒนาดอยตุงสามารถผลิตแท่งเพาะชำและวัสดุปลูกพืชจากใบและต้นหญ้าแฝก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้การได้ดี
  • อาหารสัตว์ (Fodder) ใบอ่อนของหญ้าแฝกหอม เช่น หญ้าแฝกพันธุ์ "กำแพงเพชร ๒" สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยนำไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายได้ ควรตัดในช่วงอายุ ๒ - ๔ สัปดาห์
  • เพาะเห็ด (Mushroom Cultivation) ต้นและใบของหญ้าแฝกมีองค์ประกอบพวกเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนินและโปรตีนหยาบ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดได้ โดยนำต้นและใบหญ้าแฝกมาหั่นเป็นชิ้นขนาด ๒-๔ เซนติเมตร แช่น้ำและหมักนานประมาณ ๓-๔ วัน บรรจุถุงนึ่งฆ่าเชื้อตามกรรมวิธีของการเตรียมวัสดุเพาะเห็ด ต่อจากนั้นจึงใส่เชื้อเห็ด เห็ดที่ขึ้นได้ดีในวัสดุเพาะที่เตรียมจากต้นและใบหญ้าแฝก ได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดภูฐาน เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดหอม
  • วัสดุรองคอก (Livestock Bedding) ใบหญ้าแฝกสามารถใช้เป็นวัสดุรองพื้นคอกปศุสัตว์ ซึ่งมีความทนทานเช่นเดียวกับฟางข้าว แต่ทนทานกว่าหญ้าคา


ผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตถกรรม

ทำหัตถกรรมจักสาน
ทำหัตถกรรมจักสาน
หญ้าแฝกที่มีใบเหมาะสมที่จะนำมาทำงานหัตถกรรมเป็นชนิดหญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides) ได้แก่ พันธุ์ "ศรีลังกา" แหล่งพันธุ์ "กำแพงเพชร ๒" "สุราษฎร์ธานี" และ "สงขลา ๓" แฝกหอมนี้มีลักษณะเป็นมันและยาว เมื่อถูกน้ำใบจะนิ่ม จึงเหมาะที่จะนำมาทำงานหัตถกรรมได้ดี

วิธีเตรียมใบหญ้าแฝกก่อนนำมาสาน มีวิธีการเตรียมที่ง่ายและสะดวก โดยนำใบหญ้าแฝกมาตากแดด อาจจะตากบนตะแกรงยกพื้น เพื่อให้อากาศถ่ายเทด้านล่างได้ด้วย ก็จะทำให้ใบแห้งเร็วยิ่งขึ้น ใช้เวลาตาก ๓ - ๖ วัน หลังจากนี้ก็จะนำมาจักให้ได้ขนาดตามต้องการ ก่อนสานควรแช่น้ำหรืออาจจะลูบน้ำที่ใบแฝกขณะสานก็ได้ จะช่วยให้ใบนิ่มและไม่บาดมือ


พื้นที่ที่จะปลูกหญ้าแฝก

ปลูกเพื่อประโยชน์ตามสภาพพื้นที่ เช่นเชิงเขาหรือริมตลิ่ง
ปลูกเพื่อประโยชน์ตามสภาพพื้นที่ เช่นเชิงเขาหรือริมตลิ่ง
  • พื้นที่ลาดชัน สภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันที่ไม่ใช่เป็นป่าต้นน้ำ เป็นที่ซึ่งมีการทำการเกษตร หรือมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร เช่น พื้นที่เกษตรที่สูงและไร่เลื่อนลอย เป็นต้น ควรนำหญ้าแฝกไปปลูกตามแนวระดับขวาง แนวลาดชันของพื้นที่หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลม แหงนรับความลาดเทของพื้นที่รอบต้นไม้แบบฮวงซุ้ย เพื่อลดความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดิน หญ้าแฝกจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการจัดการแนวแถวหญ้าแฝกให้มีจำนวนแนวแถวทีเหมาะสมตามความลาดชันของพื้นที่และพื้นที่ปลูก และปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวให้ต้นชิดติดกัน
  • พื้นที่ราบ การปลูกหญ้าแฝกในสภาพพื้นที่ราบ โดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์เพื่อการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน ทั้งนี้เพื่อสงวนความชื้นใต้ดินและ/หรือ การอนุรักษ์น้ำในดินที่ได้จากน้ำฝน ตลอดจนฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ และหมุนเวียนธาตุอาหารที่มีดินชั้นล่างขึ้นมาสู่ดินชั้นบน เป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกหรือเพื่อการขยายพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งอาจปลูกตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบร่วมกันก็ได้ เช่น ปลูกเป็นแถว รูปครึ่งวงกลมและวงกลม เป็นต้น
  • พื้นที่วิกฤติ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่ง่ายต่อการชะล้างพังทลาย ได้แก่ ขอบบ่อน้ำหรือสระน้ำที่ขุดใหม่ ไหล่ถนน รอยต่อของผิวน้ำกับแนวป่าที่อยู่เหนือเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แนวร่องน้ำข้างถนน พื้นที่ภูเขาและพื้นที่ที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นร่องลึก เป็นต้น

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่วิกฤติเหล่านี้ จะต้องปลูกต้นหญ้าแฝกให้ชิดติดกัน ต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเร่งการเติบโตของหญ้า โดยการใส่ปุ๋ยและควรตัดแต่งให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตด้านข้าง หรือแตกกอหนาแน่นอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแนวแถวหญ้าแฝกใรการกักเก็บตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำที่ไหลบ่า ป้องกันไหล่ทางชำรุด และป้องกันการกัดเซาะดินของน้ำฝนบริเวณขอบบ่อหรือสระน้ำ เป็นต้น อนึ่งในพื้นที่ที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นร่องลึกควรปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปตัววีคว่ำ แล้วปลูกต่อเป็นแนวยาวไปตามเส้นชั้นความสูงในลักษณะก้างปลา โดยมีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวดิ่ง ๑.๐ เมตร เพื่อชะลอการกัดเซาะร่องน้ำและกระจายน้ำให้ไหลลึกซึมลงไปในดินหน้าแนวหญ้าแฝก หรือปลูกเป็นแนวตรงขวางร่องน้ำเพื่อช่วยในการเก็บกักตะกอนดินไว้ในร่องน้ำ จนในที่สุดร่องน้ำก็จะมีดินตะกอนทับถมจนเต็ม พื้นที่วิกฤติดังกล่าวนี้จะเน้นการสร้างแนวแถวหญ้าแฝกให้มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะต้านแรงปะทะของน้ำได้ โดยการเพิ่มจำนวนแถวหญ้าแฝกให้มากขึ้น และมีมาตรการในการเร่งการเจริญเติบโตของหญ้าแฝกให้ทันฤดูน้ำหลากโดยการปลูกให้เร็วขึ้น การใช้ปุ๋ยและการตัดแต่งหญ้าแฝก พันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสม เพื่อการปลูกขวางร่องน้ำ ได้แก่หญ้าแฝกลุ่ม เช่น พันธุ์ศรีลังกา แหล่งพันธุ์สงขลา๓ กำแพงเพชร๒ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น หญ้าแฝกพันธุ์และแหล่งพันธุ์ดังกล่าวเหล่านี้จะมีลักษณะลำต้นแข็ง สูง ตั้งตรงและจะแตกตาและรากที่ข้อของลำต้นได้เสมอ เมื่อมีตะกอนดินมาทับถมจะสามารถรับแรงปะทะจากน้ำที่ไหลบ่าได้ดี