น้ำคือชีวิต

จาก WIKI84
 


การจัดการทรัพยากรน้ำ: น้ำคือชีวิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมทั้งเป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“...เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นเอง แม้สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งสัตว์ทั้งพืชก็ต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิต...ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะได้ให้ทราบถึงว่าทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือทำโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้ อื่นๆ ก็จะไปได้...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒

พระราชดำริสร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำพระราชทานพระราชดำริให้สร้างฝาย ซึ่งพัฒนามาจากฝายแม้วที่ทรงเห็นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่ขวางหรือกั้นทางเดินของลำน้ำให้กระจายอยู่ในบริเวณต้นน้ำลำธารที่ป่าถูกทำลาย เช่น ลำธารขนาดเล็ก ลำห้วย หรือบริเวณพื้นที่ลาดสูง เพื่อเก็บกักน้ำและชะลอการไหลของน้ำจากพื้นที่สูงชันลงสู่ที่ต่ำให้ไหลช้าลงในช่วงที่มีน้ำไหลแรง เช่น ฝนตกหนัก น้ำส่วนที่ชะลอและเก็บกักไว้ในฝาย จะช่วยเพิ่มและยืดเวลาความชุ่มชื้นในดิน และชั้นบรรยากาศในบริเวณโดยรอบให้ยาวนาน เป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ทำให้ป่ามีสภาพดีขึ้นเป็นลำดับ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“...การปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก. สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กัน ได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่เล็กๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ๆ หรือเขื่อนเล็กๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็กๆ ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว. แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน. ไม่ใช่. ๒ แสนบาท ทำได้ ๓๕ ตัว. ยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากล้าที่จะยืนยันว่าได้ผล...ไปดูว่าป่าจะขึ้นอย่างไร. เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั้นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว มันขึ้นเอง...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้จัดทำฝายอนุรักษ์ต้นน้ำ ๓ รูปแบบ คือ ฝายแบบท้องถิ่นเบื้องต้น อันเป็นการก่อสร้างแบบง่ายๆ ด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ล้ม นำมาขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย โดยก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ วิธีนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยหรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ฝายแบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นฝายตามแนวพระราชดำริอีกรูปแบบหนึ่ง ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ โดยก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ ส่วนฝายรูปแบบสุดท้ายคือ ฝายแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะก่อสร้างในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะทำให้สามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี

เมื่อฝายอนุรักษ์ต้นน้ำนำมาซึ่งความชุ่มชื้นของป่านั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ทั้งน้ำฟ้า น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน เป็นการจัดการน้ำที่เริ่มจากจุดกำเนิด แม้จะมิใช่เพื่อการทดน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรโดยตรงก็ตาม แต่ปัญหาภัยแล้งในอดีตที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำจากต้นน้ำลำธาร ได้รับการผ่อนคลาย ป่าไม้สามารถฟื้นคืนกลับมาผลิตน้ำหล่อเลี้ยงประเทศได้ดังเดิม แหล่งน้ำบนภูเขาไม่เหือดแห้งอีกต่อไป

จากแนวพระราชดำริที่สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในการนำฝายแม้วมาเป็นนวัตกรรมที่สร้างความชุ่มชื้นและคืนชีวิตให้แก่ผืนป่า เป็นการยังประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างอเนกอนันต์ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้สนองแนวพระราชดำริ ก่อสร้างฝายต้นน้ำขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นจำนวนมาก ในพุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้มีการรณรงค์สร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำแบบผสมผสานจำนวน ๑๑๔,๓๐๒ แห่ง แบบค่อนข้างถาวร ๔,๘๒๑ แห่ง และแบบถาวร ๒,๒๔๓ แห่ง รวมทั้งหมด ๑๒๑,๓๖๕ แห่ง สามารถฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรม ๒๕ ลุ่มน้ำหลักของประเทศทำให้ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง