การสังคายนาพระไตรปิฎก

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:38, 5 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: <div id="bg_g8"> <center><h1>การสังคายนาพระไตรปิฎก</h1></center> <div class="kindent">นับจากการ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

การสังคายนาพระไตรปิฎก

นับจากการสังคายนาพระไตรปิฎกที่มีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นอกจากจะประกาศถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังประกาศถึงความเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาให้นานาอาณาจักรรายรอบได้รับรู้

ล่วงมาในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับตราความเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อมีพระบรมราชโองการให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารกรุงเทพฯ และเสร็จสิ้นในพุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นศุภวารดิถีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ซึ่งในโอกาสนี้ได้จัดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ออกเป็นฉบับภาษาบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้จัดตั้ง "มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ" ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ เพื่อสนับสนุนการจัดสร้างพระคัมภีร์อัฏฐสาลินี ภาคภาษาไทยซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งการปริวรรตอักษรโบราณ ท้องถิ่น ชำระและแปลพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาไทย แล้วจัดพิมพ์เผยแพร่ไปตามวัด สถาบันการศึกษา และหอสมุดทั้งในและต่างประเทศ รวมหนังสือที่จัดพิมพ์แล้ว ๘๖,๔๐๐ เล่ม

และเพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการอันก้าวไกลทางด้านเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มไว้ ทั้งยังทรงออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้สืบค้นข้อมูลด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้สืบค้นข้อมูลพระไตรปิฎกและอรรถกถาด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ และใช้ชื่อว่า BUDSIR IV ซึ่งสามารถค้นหาคำศัพท์ทุกคำ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ซึ่งคิดเป็นข้อมูลมากกว่า ๒๔.๓ ล้านตัวอักษร ที่ได้รับการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วนสมบูรณ์