การคมนาคม
การสร้างเส้นทางคมนาคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วประเทศคือ การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เพื่อเปิดประตูสู่พื้นที่ชนบท และแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองมากมายหลายโครงการด้วยกัน เพื่อสร้าง “ความมั่นคงผาสุก และความร่มเย็นอย่างยั่งยืน” ตอบสนองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
ทรงเปิดเส้นทางการพัฒนาสู่ชนบทที่ห่างไกล
พุทธศักราช ๒๔๙๕ ถนนพระราชดำริสายแรก
"...ที่ข้างในหนองพลับแต่ก่อนนี้เข้าไม่ได้ แค่ครึ่งทางไปหนองพลับก็ไม่ได้ .. ปี ๒๔๙๕ หรือ ๙๖ เพิ่งได้รถบลูโดเซอร์ แล้วเอารถไปให้ค่ายนเรศวรให้สร้างถนนให้ไถถนนเข้าไปถึงห้วยมงคล ซึ่งเดี๋ยวนี้ห้วยมงคล ๒๐ นาทีก็ถึง ตอนนั้นเข้าไปตั้งแต่ ๘-๙ โมงเช้า เข้าไปถึงร่วมบ่ายโมง ไปรถจิ๊ปเข็นเข้าไป ลากเข้าไป..." ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟก็เช่นเดียวกัน แม้จะขึ้นอยู่กับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ห่างไกลความเจริญไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่มีถนนจากหมู่บ้านสู่ตลาดหัวหิน ประชาชนได้รับความลำบากในการเดินทางติดต่อกับภายนอกอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ก่อสร้างถนนอีกหลายเส้นทางซึ่งนอกเหนือไปจากเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของราษฎร ยังรวมถึงเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นสำคัญอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่อันตราย เช่น เส้นทางสายน่าน - ปัว - ทุ่งช้าง - ปอน - ห้วยโก๋น อันเป็นเส้นทางที่ผู้ก่อการร้ายคุกคาม เพื่อขัดขวางการก่อสร้างทางมากกว่า ๑,๗๐๐ ครั้ง ทำให้สูญเสียเครื่องจักรและชีวิตของนายช่าง คนงาน ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และพนักงาน ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นจำนวนมาก แม้จะเต็มไปด้วยภัยอันตรายนานา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงหวั่นยังเสด็จพระราชดำเนินไปเพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงและหน่วยราชการอื่นๆ ในการบุกเบิกสร้างทางเหล่านั้น
ช่วงพุทธศักราช ๒๕๒๑ - ๒๕๒๓ และ ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ดำเนินการปรับปรุงถนนในพื้นที่ทุรกันดาร เพื่ออำนวยประโยชน์ให้พสกนิกรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ สามารถเดินทาง ติดต่อถึงกันด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยตลอดเส้นทาง โครงการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวมีจำนวนมากถึง ๔๕ สาย ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางในภาคเหนือรองลงมาคือ ภาคใต้
การดำเนินงานตามโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายหรือโครงการฟาร์มตัวอย่างต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังนำมาซึ่งการสร้างเส้นทางคมนาคมสายใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ นั่นคือ นอกจากจะมีสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเพียงพอ มีทรัพยากรสำหรับการประกอบอาชีพให้มั่นคงแล้ว ยังต้องมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเพื่อการติดต่อสัญจรของชาวบ้าน ซึ่งกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงได้สนองตามพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐาน เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดทางสร้างถนนในพื้นที่ชนบทได้สร้างคุณูปการต่างๆ มากมายทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นการเปิดเส้นทางเพื่อรับการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้เข้าสู่ พื้นที่ ช่วยให้การเดินทางสัญจรระหว่างชุมชนคล่องตัวและช่วยลดต้นทุนในการขนส่งผลผลิตไปสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ราษฎรมีงานทำ สามารถประกอบอาชีพภายในภูมิลำเนา ลดการเดินทางเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
พุทธศักราช | เส้นทาง | หมายเหตุ |
๒๔๙๕ | * สายห้วยมงคล ประจวบคีรีขันธ์ | เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม |
๒๕๑๓ | * สายอำเภอรามัน - บ้านตะโละหะลอ อำเภอรือเสาะ นราธิวาส | เพื่อความมั่นคงทางการเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม |
๒๕๑๙ | * สายปราจีนบุรี - เขาใหญ่ ทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๗ ปราจีนบุรี | เส้นทางสายยุทธศาสตร์ให้รถยนต์ทหารผ่าน เพื่อความมั่นคงของประเทศบริเวณชายแดนกัมพูชา |
๒๕๒๑ | * สายอำเภอระแงะ - บ้านดุซงญอ - นิคมพัฒนาภาคใต้ นราธิวาส | เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม |
๒๕๒๑ | * สายบ้านสามแยก - อำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส | เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม |
๒๕๒๑ | * สายบ้านวาก - บ้านใหม่ - บ้านแม่ตะไคร้ ทางหลวงหมายเลข ๑๒๒๙ เชียงใหม่ - ลำพูน | ปรับปรุงเส้นทางข้ามภูเขาระหว่างบ้านเปาสามขา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม |
หมายเหตุ: ภายหลังจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: ทางหลวงตามรอยพระยุคลบาท พุทธศักราช ๒๕๕๐ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม