การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย
เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ
การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย
หลักการและเหตุผล
ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นระบบที่อาศัยกระบวนการทางธรรมชาติเป็นตัวช่วย และร่วมในการบำบัด โดยปริมาณของเสียในน้ำเสียจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในน้ำเสีย ขณะที่สาหร่ายจะอาศัยแสงอาทิตย์เป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์แสง ปลดปล่อยออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ใช้ในการหายใจ และสาหร่ายใช้สารที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายในการเจริญเติบโตอันเป็นกระบวนการพึ่งพาอาศัยกัน (symbiotic relationship process) ระหว่างแบคทีเรียและสาหร่ายในบ่อบำบัด ส่งผลให้สาหร่ายสีเขียวเกิดขึ้นในบ่อมากมาย ประมาณ 100-260 มิลลิกรัมต่อลิตร ทำให้สภาพน้ำมีสีเขียว การระบายน้ำออกจากระบบบำบัดควรกำจัดสาหร่ายออกก่อน เพื่อไม่ให้ก่อปัญหาความสกปรกต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ สาหร่ายเหล่านี้เมื่อตายลงจะเป็นซากอินทรีย์และตกตะกอนลงสู่ก้นบ่อ
การประยุกต์หลักการดังกล่าว เพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยส่วนใหญ่มักก่อสร้างเป็นบ่อดิน เป็นบ่อกลางแจ้ง ความลึกพอประมาณ 1.7-2.5 เมตร โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติในการเติมอากาศและจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายของเสียในน้ำเสียจนกระทั่งน้ำมีคุณภาพที่ดี แล้วสามารถระบายลงสู่แม่น้ำธรรมชาติต่อไป
การสำรวจและวางแผน"
1. การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน
การจะนำระบบบ่อบำบัดมาใช้แก้ไขปัญหาน้ำเสียของชุมชฃนหนึ่งจำเป็นต้องทราบข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้สำหรับการออกแบบระบบ ควรสำรวจข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อใช้ประกอบการคำนวณ/ออกแบบระบบ ดังนี้
(1) ลักษณะพื้นที่ ลักษณะพื้นที่/ภูมิประเทศของพื้นที่ชุมชนมีผลต่อลักษณะการออกแบบระบบรวบรวมและระบายน้ำเสีย เพื่อนำไปบำบัดยังระบบบ่อบำบัดที่ออกแบบก่อสร้างไว้ ควรสำรวจความลาดเทของพื้นที่ ลักษณะการระบายน้ำของพื้นที่ ทิศทางลม ลักษณะดิน เป็นต้น
(2) จำนวนประชากร ประชากรในพื้นที่คือที่มาของน้ำเสีย ชุมชนที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรมาก กิจกรรมของประชากรก็มีมากตามไปด้วย ปริมาณน้ำเสียมีมากตามและลักษณะของน้ำเสียก็แตกต่างกันออกไป
(3) คุณลักษณะน้ำเสีย ได้แก่ ค่าปริมาณของเสียในรูปบีโอดี ปริมาณของแข็งแขวนลอย ฯลฯ ตามค่ากำหนดของมาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ออกตามความใน พรบ.ส่เสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2537 น้ำเสียจากชุมชนมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละทิ้งถิ่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะนำไปพิจารณาในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป
(4) ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน ลักษณะอากาศ แสงแดด ข้อมูลเหล่านี้มีอิทธพลต่อการบำบัดน้ำเสียโดยตรง
2. การวิเคราะห์ระบบ/ปัญหา
ปัญหาน้ำเสียในชุมชนหนึ่งนั้น มีความรุนแรงแปรไปตามปริมาณและลักษณะของกิจกรรมการใช้น้ำ ตลอดจนความสามารถในการฟอกตัวเองของระบบสิ่งแวดล้อมนั้นๆ การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงลักษณะและระดับความรุนแรงของปัญหา ความสามารถในการฟอกตัวโดยธรรมชาติและสมรรถนะในการรองรับของพื้นที่ วิเคราะห์ถึงจุดเกิดของปัญหา หาสาเหตุของปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่รองรับน้ำเสียจากชุมชนนั้นๆ
3. การประเมินระบบ
ประเมินในภาพรวมว่าในชุมชนนั้น ปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงอยู่ในระดับใด จัดลำดับความสำคัญของปัญหา มีความจำเป็นต้องดำเนินการส่วนใดก่อนส่วนใดหลัง รวมถึงการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีดำเนินการก่อสร้างและไม่ก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย เปรียบเทียบผลได้ผลเสีย รวมทั้งวางแผนในอนาคตที่จำนวนประชากรหรือการขยายตัวของชุมชนจะเพิ่มขึ้น
4. การวางแผน
กำหนดแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสมสำหรับชุมชนนั้นๆ เลือกระบบบำบัดออกแบบก่อสร้าง และประเมินศักยภาพของชุมชน ความสามารถในการลงทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของชุมชน การจัดหาที่ดิน และกรณีไม่มีทุนเพียงพอ ควรจัดหาทุนจากแหล่งที่เกียวข้องมารองรับ
5. การกำหนดมาตรการแก้ไขและบำบัดน้ำเสีย
เมื่อทราบถึงลักษณะของปัญหา ระดับความรุนแรง และหาแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสมแล้ว ก็วางมาตรการอย่างเป็นขั้นตอน เช่น จัดแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็นเขตๆ การเลือกใช้ระบบบำบัดที่เหมาะสม การออกแบบระบบ การจัดหาที่ดิน การจัดทำรายละเอียด การจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น และเริ่มดำเนินการตามมาตรการ/แผนงานที่วางไว้ต่อไป
การเลือกระบบบำบัดน้ำเสีย
การออกแบบระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย
รายการคำนวณที่สำคัญ ที่ใช้ในการออกแบบระบบเพื่อบำบัดน้ำเสียโดยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย มีข้อมูลที่จำเป็นต้องคำนวณเพื่อใช้ประกอบการออกแบบดังต่อไปนี้
1) จำนวนประชากรปัจจุบัน และในอนาคต 10-20 ปี
สูตร:
อัตราการเพิ่มของประชากร = (จำนวนประชากร 20 ปีย้อนหลัง - จำนวนประชากรปัจจุบัน)/20
หน่วย : อัตราการเพิ่มของประชากร (ร้อยละ), จำนวนประชากร (คน)
2) ปริมาณน้ำเสีย ประเมินจากอัตราการใช้น้ำของประชากร โดยปกติน้ำใช้ร้อยละ 80-85 จะแปรสภาพเป็นน้ำเสีย หลังจากผ่านกิจกรรมการใช้น้ำ
- ชุมชนในเขตเมือง ใช้น้ำ 200 ลิตร/คน/วัน
- ชุมชนในเขตชนบท ใช้น้ำ 50 ลิตร/คน/วัน
สูตร :
ปริมาณน้ำเสียทั้งหมด = (จำนวนประชากร x อัตราการเกิดน้ำเสียต่อคน)/1000
หน่วย : ปริมาณน้ำเสีย (ลูกบาศก์เมตร/วัน), จำนวนประชากร (คน), อัตราการเกิดน้ำเสียต่อคน (ลิตร/คน)
3) ประเมินปริมาณน้ำเสียในอนาคต 10-20 ปี โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 20 ปี
4) ปริมาณของเสียในรูปสมมูลประชากร คือ ค่าความสกปรกหรือมลสารในรูปสารอินทรีย์ที่วัดได้โดยหน่วยวัดบีโอดี ที่เกิดจากกิจกรรมการใช้น้ำของประชากร
สูตร :
ปริมาณของเสียสมมูลประชากร = ค่าบีโอดี x ปริมาณน้ำเสีย
หน่วย : ปริมาณของเสียสมมูลประชากร (กิโลกรัมบีโอดี/วัน), ค่าบีโอดี (มิลลิกรัม/ลิตร), ปริมาณน้ำเสีย (ลูกบาศก์เมตร)
5) ดัชนีคุณภาพน้ำก่อนการบำบัด การออกแบบจะต้องให้ระบบสามารถรองรับน้ำเสียได้ในช่วงเวลา 20 ปี มีรายละเอียดดังนี้
- Minimum Flow Rate (ลูกบาศก์เมตร/วัน) ใช้ปริมาณน้ำเสียในปัจจุบัน
- Maximum Flow Rate (ลูกบาศก์เมตร/วัน) ใช้ปริมาณน้ำเสียที่คาดการณ์ในอนาคต 20 ปี
สูตร :
Maximum Flow Rate = Minimum Flow Rate x อัตราการเพิ่มของประชากร
หน่วย : Maximum Flow Rate (ลูกบาศก์เมตร/วัน), Minimum Flow Rate (ลูกบาศก์เมตร/วัน), อัตราการเพิ่มของประชากร (ร้อยละ)
- บีโอดี (BOD) ในน้ำเสีย คือ ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในกระบวนการทางชีวเคมี มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร
- ซีโอดี (COD) ในน้ำเสีย คือ ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในกระบวนการทางเคมี มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร
- ปริมาณของแข็งทั้งหมด (Total Solids) ในน้ำเสีย มีหน่วยเป็น มิลลิกรัม/ลิตร
- ปริมาณของแข็งแขวนลอย (Suspended Solid) ในน้ำเสีย มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร
- ปริมาณไนโตรเจนในรูป TKN มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร
- ปริมาณฟอสเฟต มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร
- ความเป็นกรด-ด่าง (pH)
หมายเหตุ - พื้นที่คำนวณได้ ไม่รวมพื้นที่ก่อสร้างคันบ่อและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
- บีโอดี (BOD) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร
- ปริมาณของแข็งแขวนลอย (Suspended Solid) ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ลิตร