พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 04:19, 17 กันยายน 2552 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: <div id="bg_g1t"> </div> <div id="bg_g1"> <center><h1>พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก</h1></center> <div ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก


เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ผู้แทนองค์กรนานาชาติ 29 องค์กร 27 ประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ของโลก ได้เดินทางมาร่วมงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติในประเทศไทย และได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรและเป็นที่ประจักษ์ต่อ สายตาชาวโลกว่า "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก" แม้พระราชสมัญญาจะทูลเกล้าฯถวายเป็นระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาแล้ว แต่พระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักเพื่อประเทศไทย และพระปรีชาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทย ยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัดต่อสายตาของชาวไทยและชาวโลกมิเสื่อมคลาย...

ในปีนี้องค์กรภาคเอกชนจากประเทศฮังการี หรือสหพันธ์นักประดิษฐ์โลก และองค์กรเอกชน จากสาธารณรัฐเกาหลี หรือสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์จากเกาลีใต้ และประเทศทั่วโลก 84 ประเทศ ต่างเห็นพ้องให้ประเทศไทยเป็น ‘เจ้าภาพการจัดงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติ’ ขึ้นเป็นครั้งแรก และในการจัดงานในครั้งนี้ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์อีกครั้งที่จะถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก" แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช ถือได้ว่าในสายตาของนานาชาติ ต่างให้การยอมรับและยกย่องต่อพระราชกรณียกิจ และพระปรีชาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยอย่าง แท้จริง โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” และ “วันนักประดิษฐ์นานาชาติ” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี ภายในงานมีตัวแทนจาก 4 องค์กรหลักด้านสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมวงศานุวงศ์

ในงานครั้งนี้เอง สมาพันธ์นักประดิษฐ์โลก (IFIA) องค์กรด้านการประดิษฐ์ที่มีสมาชิกกว่า 300 องค์กรจาก 86 ประเทศทั่วโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพระอัจฉริยภาพทางการประดิษฐ์ (Glory TO The Greatest Inventor Award From IFIA) ซึ่งถือเป็นรางวัลแรกและรางวัลเดียวในโลก จากที่ทรงมีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นกว่า 1,000 ชิ้น ด้านองค์การผลิตจากเกาหลี (KIPA) ยังทูลเกล้าฯ รางวัลพิเศษทฤษฎีใหม่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จากผลงานการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งแม้จะมีการจดสิทธิบัตร และใช้งานมานานแต่ได้ต่อยอดการใช้งานอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนานี้ ยังได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากองค์กรนักประดิษฐ์แห่งประเทศรัสเซียอีกด้วย

การได้รับการยอมรับจากนานาประเทศนี้ หากมองในแง่ของการพิจารณาการให้รางวัลด้านสิ่งประดิษฐ์ ย่อมต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยังประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติ และนั่นหมายถึงว่า การทรงงานของพระองค์ท่านเป็นการทรงงานหนักสำหรับประชาชนและเพื่อประชาชนโดย แท้ ซึ่งสะท้อนถึงการเป็น พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก อย่างหาผู้ใดเปรียบมิได้

ไม่แม้แต่การทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนี้ องค์กรสิ่งประดิษฐ์จากประเทศเกาหลี (KIPA) ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สำหรับการส่งเสริมสาขาอาชีพ จากการที่พระองค์ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการประดิษฐ์ชิ้นงาน โดยนำเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทยมาสร้างเอกลักษณ์ในโครงการศิลปาชีพอย่างต่อ เนื่อง จนทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยได้เป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก และจากผลงานดังกล่าว สมาพันธ์นักประดิษฐ์หญิงจากประเทศเกาหลี จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพิเศษสำหรับการส่งเสริมอาชีพ และองค์กรนักประดิษฐ์แห่งประเทศรัสเซีย ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองสำหรับการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถอีกด้วย

สำหรับรางวัลที่องค์กรการประดิษฐ์นานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น สมาพันธ์นักประดิษฐ์โลก สมาพันธ์นักประดิษฐ์หญิงจากประเทศเกาหลี และองค์กรนักประดิษฐ์แห่งประเทศรัสเซีย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิจัยดีเด่น เนื่องจากพระองค์ทรงมีผลงานด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้องค์กรสิ่งประดิษฐ์จากประเทศเกาหลียังทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพิเศษด้านการพัฒนาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา และทรงประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมในการจัดการธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการรวบรวมศาสตร์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันหลายศาสตร์ เช่น ด้านพันธุกรรม ด้านคณิตศาสตร์ ด้านสังคม และด้านภาษา จากพระราชปณิธานที่ทรงเล็งเห็นว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพันธุ์พืชไม่ให้สูญหาย โดยการจัดการข้อมูลเข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อง่ายต่อการศึกษา ด้วยเหตุนี้ KIPA จึงเตรียมขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านอนุรักษ์พันธุ์พืชให้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

รางวัลอันทรงเกียรติที่มากมายนี้ ล้วนแสดงออกถึงพระปรีชาของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยทั้งชาติอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรไทยในการประดิษฐ์คิดค้น เพื่อพัฒนาวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยมีการประกอบอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนและมีความสุขตลอดไป

จากพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นนี้ สำนักข่าวแห่งชาติยังเชื่อว่า ยังเป็นการต่อยอดและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ๆ ในการคิดค้นผลงานเพื่อยังประโยชน์สู่คนไทยอีกด้วย ซึ่งในงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีนี้ ภายในงานนอกจากมีกิจกรรมและนิทรรศการหลากหลายแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมผลงานการประดิษฐ์ของเยาวชน และนักวิจัยจากทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมจัดแสดงมากกว่า 700 ผลงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังรวมผลงานสิ่งประดิษฐ์จากคนไทย มากกว่า 300 ผลงาน และจาก 27 ประเทศทั่วโลก อีกมากกว่า 155 ผลงาน

พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง

ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ



ที่มา: http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255202060100&tb=N255202