ส-เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ๒

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:10, 5 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: <div id="bg_g1t"> </div> <div id="bg_g1"> <h3>ธำรงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พุทธศ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

ธำรงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พุทธศักราช ๒๕๑๑ - ๒๕๔๐)

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศอย่างเป็นทางการอีกเป็นเวลานาน แต่ความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศก็ยังคงดำเนินสานต่อเรื่อยมา ทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มั่นคงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสามารถรอดพ้นจากการครอบครองดินแดนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ สามารถพัฒนากระบวนการทางการเมืองมาสู่แนวทางของประชาธิปไตย ประกอบกับมีการใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ และต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทุนนิยมสมัยใหม่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญเติบโตเพิ่มสูงขึ้นประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ประเทศไทยจึงมุ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ต้อนรับการย่างก้าวเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ จนได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ในห้วงเวลานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขด้วยการต้อนรับผู้มาเยือนและธำรงความสัมพันธ์ระหว่างกันตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตอาทิ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มจากประเทศต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระราชสาส์นหรืออักษรสาส์นตราตั้งในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อบังคมทูลลาในโอกาสที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ พร้อมกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มจากประเทศไทยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลลาก่อนไปรับหน้าที่ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระประมุข ประมุข และหัวหน้ารัฐบาลจากประเทศต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินหรือเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ในวาระโอกาสสำคัญที่ต้องแสดงความยินดี แสดงความห่วงใยช่วยเหลือ หรือมีความรู้สึกร่วมกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นในประเทศใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในงานนั้น หรือพระราชทานพระราชสาส์นหรือข้อความพระราชโทรเลขไปยังพระประมุขหรือประมุขของประเทศนั้นๆ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ สายสัมพันธ์จึงได้รับการธำรงไว้อย่างต่อเนื่องเนิ่นนาน

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ปฏิบัติราชการในต่างประเทศอยู่เสมอ โดยทรงเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของงานด้านการต่างประเทศอันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจอันดีของประเทศไทยให้เกิดขึ้นในสายตาของนานาประเทศดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า

“...ท่านเป็นผู้แทนของประเทศไทยในต่างประเทศที่ปีที่แล้วได้เห็นชัดว่ามีความสำคัญเท่าไร ที่จะให้มีผู้แทนของประเทศในประเทศต่างๆ เพื่อที่จะให้ชาวต่างชาติเข้าใจถึงความเป็นอยู่ของประเทศไทยโดยเฉพาะท่านที่เป็นข้าราชการฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งเท่ากับเป็นผู้ที่มีความรู้ของประเทศได้อยู่ ณ ต่าง ประเทศ เพื่ออธิบายว่าคนไทยเป็นอย่างไร และท่านก็ได้อธิบายอย่างดี เพราะว่าถ้าไม่มีใครอธิบายถึงความเป็นอยู่ของประเทศไทยชาวต่างประเทศมักจะเข้าใจผิดและตั้งใจเข้าใจผิด เพราะว่า ไม่เข้าใจ ที่จริงเข้าใจ ชาวต่างประเทศไม่ได้โง่ แต่ว่าเขาทำโง่ คนไทยถ้าโง่ไปตามเขาเมืองไทยก็แย่...”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ไทยที่ปฏิบัติราชการอยู่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อกาลเวลาล่วงไป ๒๗ ปี นั่นก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเป็นประเทศล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๗ เพื่อทรงร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ที่จังหวัดหนองคาย และเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน - ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจัดตั้งต้นแบบของการบูรณาการและเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้แก่ประเทศลาว ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศลาวเท่านั้นแนวพระราชดำริที่เป็นองค์ความรู้และวิทยาการต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาชนบทยังเผยแพร่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหภาพพม่า รวมทั้งแนวพระราชดำริ ในการปลูกหญ้าแฝกก็ได้รับการเผยแพร่ไปสู่หลายประเทศทั้งราชอาณาจักรภูฏาน และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ราชอาณาจักรเลโซโท ก็นำแนวพระราชดำริดังกล่าวไปปรับใช้ในประเทศของตน