ภาพพระราชกรณียกิจชุดที่ 2

จาก WIKI84
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:52, 7 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: center|300px <center> <h1>ทรงเป็นหลักชัยไทยทั...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ทรงเป็นหลักชัยไทยทั่วหล้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขของชาติ
ทรงให้ความสำคัญต่อกิจการของบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน
ทั้งด้านการศาสนา การเมืองการปกครอง การทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ

พระราชพิธีด้านศาสนา

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ รัฐบาลได้จัดงานฉลองกึ่งพุทธศตวรรษขึ้น โดยมีการจัดขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นการเฉลิมฉลองและระลึกในพระไตรรัตนาธิคุณ มีเรือเข้าร่วมขบวนไม่ครบถ้วน เนื่องจากเรือพระราชพิธีได้ชำรุดเสียหายไปตามสภาพและถูกทำลายจากภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้น สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามราชประเพณีที่เคยมีมา เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป


เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเสาชิงช้าและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ตามโบราณราชประเพณี โดยให้มีพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ในเดือนยี่ของทุกปี พิธีโล้ชิงช้าได้ยกเลิกไปเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย โดยให้คงไว้เฉพาะส่วนพระราชพิธีในวันแรม ๑ - ๖ ค่ำ เดือนยี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชครูพราหมณ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเจิมเทวรูปก่อนเชิญไปทำพิธีที่ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อเสร็จพิธี พราหมณ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอุลุบ และเครื่องพิธี เช่น ข้าวตอก ผลไม้ ขนมหวานต่างๆ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นเสมือนการประกาศความเป็นองค์พระประมุขของชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีนัยว่าหมายถึงการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในพระราชมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวังตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เนื่องในการประสูติของพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ตามขัตติยราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธี ฉลองประสูติมงคลขึ้นในวันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระราชพิธีทรงพระผนวช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะที่มีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพระราชพิธีทรงพระผนวชในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ในระหว่างทรงดำรงสมณเพศเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระผนวชประทับที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับภิกษุทั่วไป เช่น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า - เย็น และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชน ก่อนทรงลาสิกขาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙