การแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน
แนวพระราชดำริเพื่อประชาชนในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินในประเทศไทย
๑) ดินทราย : ต้องเพิ่มกันชนให้ดิน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สามารถแก้ไขปัญหา ดินทรายมีแร่ธาตุน้อย อันมีสาเหตุมาจาก คน ทำลายป่า แล้วปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทรายไปในที่สุด ในฤดูแล้งแรงลมจะพัดเอาหน้าดินไปหมด ในฤดูฝนหน้าดินจะถูกชะล้างไปกับกระแสน้ำ
วิธีการแก้ไขตามแนวพระราชดำริ
- สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน ๑๘ แห่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำโจน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำหลักของโครงการ เพื่อนำน้ำไปใช้พัฒนาการเกษตรและขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ด้านการชะลอน้ำ ทำให้เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดินและช่วยฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
- ที่ดินบริเวณร่องห้วย เป็นดินไม่มีปัญหา จัดทำแปลงสาธิตการพัฒนาการเกษตรตามแนว ทฤษฎีใหม่ โดยการขุดสระน้ำเพื่อเป็นแห่งน้ำสำรอง
- ที่ดินบริเวณที่มีความลาดชันและเป็นที่ดอน (uplands) ให้ปลูกแฝกตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน พร้อมแบ่งเนื้อที่เป็นส่วนๆ เพื่อปลูกแฝกสำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่สวนสมุนไพร ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ผล และพืชล้มลุกปลอดสารพิษ การปลูกไม้ผลและพืชล้มลุกจำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำใช้รดพืชใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำซึ่งส่งมาตามคลองชลประทานขนาดเล็ก
หลังจากการดำเนินงานอย่างต่เนื่องเป็นระยะเวลากว่า ๒๐ ปี พื้นที่ดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฯ ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว สามารถปลูกพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ปัญหาการชะล้างพังทลายของดินหมดไป สามารถใช้เป็นพื้นที่สาธิตหรือพื้นที่ตัวอย่างของการพัฒนาดินทรายเสื่อมโทรมได้
๒) ดินเป็นหิน กรวด และแห้งแล้ง : ต้องยึดดินและช่วยให้ชื้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณป่าขุนแม่กวง แต่สภาพป่าถูกบุกรุกทำลายไปมาก ทำให้หน้าดินถูกกระแสน้ำและลมพัดพาจนหมด เนื่องจากไม่มีป่าหรือต้นไม้คอยพยุงไว้ วิธีการแก้ไขตามแนวพระราชดำริมีดังนี้
- สร้างอ่างเก็บน้ำและฝายตามร่องห้วยฮ่องไคร้ และห้วยแม่สาย เป็นระยะๆ เพื่อเก็บกักน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าและดิน
- เมื่อมีความชุ่มชื้น ป่าเริ่มฟื้นตัว แปรสภาพเป็นป่าสมบูรณ์
- มีการปลูกเสริมบ้างตามความจำเป็น เมื่อมีป่าหน้าดินก็ไม่ถูกชะล้างพังทลายอีกต่อไป
- บริเวณพื้นที่ลาดชันน้อย ฟื้นฟูดินที่เป็นกรวด ทราย และลูกรัง โดยปลูกพืชที่เหมาะสมและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดิน และปลูกแฝกตามแนวระดับเพื่อยืดดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
- พื้นที่ใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ทำนา เพื่อเป็นตัวอย่าง
- อ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอ่างห้วยฮ่องไคร้มีความจุ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการให้เลี้ยงปลา แล้วให้ราษฎรจับไปขายได้ในรูปของสหกรณ์
ผลของการพัฒนาในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา ป่าในพื้นที่โครงการได้แปรสภาพเป็นป่าเกือบสมบูรณ์ แหล่งต้นน้ำของห้วยฮ่องไคร้ ได้กลับฟื้นคืนสภาพดังเดิม การชะล้างพังทลายของดินหมดไป ดินในพื้นที่หุบเขาที่มีความลาดชันน้อย ได้รับการฟื้นฟูทำการเกษตรควบคู่ไปกับการรักษาป่า และสภาพแวดล้อม ซึ่งราษฎรสามารถนำเอาไปใช้ปฏิบัติได้ในพื้นที่อื่นๆ
๓) ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรัง : ต้องสร้างของดีซ้อนบนของเลว
"...เราจะสร้างของดี ซ้อนบนของเลวนั้นต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา ..." พระราชดำรัส ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดินดาน ดินลูกรัง ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้วิธี ดังนี้
- สร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก เพื่อเก็บกักน้ำรักษาความชุ่มชื้น และนำน้ำไปใช้อย่างประหยัดตามความจำเป็น
- ฟื้นฟูไม้เศรษฐกิจทางการเกษตร เช่น ไม้ผล และพืชล้มลุก ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ และปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดทเขนานกันหลายๆ แนว เพื่อป้องกันไม่ให้ดินถูกชะล้างพังทลาย ลดปริมาณน้ำไหลบ่าผ่านหน้าดินและรักษาความชุ่มชื้น
๔) ดินถูกชะล้าง (Soil erosion) : ช่วยเหลือด้วยกำแพงที่มีชีวิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาหน้าดินถูกชะล้างโดยใช้ กำแพงที่มีชีวิต และพระราชทานพระราชดำริครั้งแรก ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเลขาธิการ กปร. "...ให้ศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม..." และเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรและทรงปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่โครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชกระแสว่า "...ให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วยเพราะหญ้าแฝก มีประโยชน์ในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย ช่วยรักษาหน้าดิน ช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุในดิน ใบอ่อนยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย..."
"...การอนุรักษ์ดินต้องดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวางเพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟู และอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ..."
"...ปลูกหญ้าแฝกเพื่อจะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วยก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี ถ้าหากว่าไม่ได้ปฏิบัติเช่นนี้ ดินนั้นจะหมดไปเลยหรือเหลือแต่ดินดานและทราย และดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วยทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตื้นเขินน้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบ และน้ำที่ลงจากเขาจะลงมาโดยเร็ว เพราะว่าภูเขานั้นมีต้นไม้น้อยทำให้น้ำลงมารวมกันอย่างฉับพลันและท่วมมิหนำซ้ำเมื่อน้ำท่วมแล้วทำลายพืชผลของชาวบ้าน น้ำนั้นไหลไปเร็ว เวลาไม่กี่วันก็แห้งไม่มีน้ำใช้ ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูการเพาะปลูก.."
"...หญ้าแฝกนี้จะกักน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏิกรณ์น้ำและปุ๋ย ไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบายก็อาศัยชลประทาน แล้วก็ป่าไม้ต้องเสริมสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ เวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติดหญ้าแฝก ก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นนานไปก็จะเป็นดินที่เป็นประโยชน์ปลูกต้นไม้ได้ดี..."
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ตั้งขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ไว้ ๖ ศูนย์ เพื่อเป็นต้นแบบของความสำเร็จของการพัฒนาแบบผสมผสานที่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษา เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จึงเป็นสถานที่ที่สำคัญในการศึกษาทดลอง และดำเนินการสนองพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกอย่างมากมาย โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การรวบรวมและเปรียบเทียบสายพันธุ์หญ้าแฝกแหล่งต่างๆ มีการเพาะในแปลงขยายพันธุ์ การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง การนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนการขยายผลไปสู่เกษตรกร ทั้งนี้ยังได้มีการอบรมให้ความรู้และจัดทำสาธิตวิธีการปลูกหญ้าแฝกในลักษณะต่างๆ ไว้ในศูนย์ฯ เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษา และมีการแจกจ่ายพันธุ์หญ้าแฝกให้กับผู้ที่สนใจด้วย
พื้นที่ที่มีปัญหาดินถูกชะล้าง และได้นำแนวพระราชดำริไปดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีการปลูกแฝกตามลักษณะของสภาพพื้นที่ ดังนี้
- ปลูกลงในแปลงๆ ละ ๑ แถว
- สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่
- การปลูกหญ้าแฝกกับพื้นที่ภูเขา โดยปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินไว้
- การปลูกหญ้าแฝกเหนือบริเวณแหล่งน้ำ ปลูกแฝกเป็นแนวป้องกันตะกอนดินและกรองของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำ
- การปลูกหญ้าแฝกบริเวณร่องน้ำขนาดเล็ก ให้ปลูกเป็นรูปตัว "^" โดยให้ปลายแหลมชี้ขึ้นในทางต้นน้ำ ขาทั้ง ๒ ข้างพาดวางร่องน้ำไปตามความลาดชันเพื่อกั้นดินและกระจายการไหลของน้ำ
ตัวอย่างโครงการพัฒนาหญ้าแฝก ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื้องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย มีการปลูกหญ้าแฝกเขื่อนธรรมชาติ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การกัดกร่อนผิวดิน การกัดเซาะดินไม่ให้เลื่อนไหลและเพื่อกรองตะกอนดินที่น้ำพามา ตลอดจนลดความเร็วของน้ำทำให้ดินดูดซับน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากสามารถป้องกันการสูญเสียหน้าดินและน้ำที่ไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันสมบูรณ์ฟื้นคืนกลับมาพร้อมที่จะนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร ป่าเศรษฐกิจและพืชเศรษฐกิจหรือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับพื้นที่อื่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ ในการแก้ไขสามารถประหยัดงบประมาณจำนวนมาก และยังป้องกันการเลื่อนไหลพังทลายของดิน โดยวิธีทางวิศวกรรมได้ เนื่องจากการสร้างกำแพงหญ้าแฝกมีค่าใช้จ่ายต่ำ และกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมดังเดิม
๕) ดินเปรี้ยว หรือดินพรุ: ทำให้ดินโกรธ โดยแกล้งดิน
ดินพรุ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลักษณะทางกายภาพ คือ พื้นที่ลุ่มมีน้ำขัง เช่น พื้นที่บึงหรือหนองน้ำที่ค่อนข้างตื้น มีพืชพวก กก พืชล้มลุก และหญ้าต่างๆ เกิดขึ้นและตายทับถมกันเป็นเวลานานๆ เปิดโอกาสให้ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นเจริญเติบโตขึ้นได้ เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ความหลากหลายของพันธุ์พืช ทั้งไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้นก็ยิ่งเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น เอื้ออำนวยให้สัตว์ป่าหลากชนิด เข้ามาอาศัยและตายทับถมกันอยู่ในป่า เวลาผ่านไปซากพืช ซากสัตว์เหล่านี้ สะสมจนเป็นชั้นหนา เรียกว่า ดินอินทรีย์ (peat) และเรียกป่าที่ดินอินทรีย์นี้ว่า ป่าพรุ (ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิริธร. ๒๕๔๕ : ๑)
เมื่อเข้าใจว่า ดินเปรี้ยว ดินพรุ เป็นอย่างไรแล้ว พอจะอนุมานได้ว่า ใครทำลายป่าพรุ คำตอบคือ เกิดจากคนที่มีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บุกรุกทำลายแผ้วถางป่าพรุ เพื่อทำการกสิกรรม และจับสัตว์น้ำ สัตว์บก โทษที่เกิดจากการกระทำก็คือ ทำให้ดิน และน้ำของพื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นกรดอย่างรุนแรงไม่สามารถทำการกสิกรรม หรือนำมาบริโภคได้ สัตว์น้ำต่างๆ สูญหายหมดไป
วิธีการแก้ไขดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับวิธีการทั่วไปที่ต้องการลดปัญหา แต่เป็นการสร้างหรือเพิ่มให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้นด้วยกระบวนการที่ทรงเรียกว่า แกล้งดิน เป็นกระบวนการเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินที่มีแร่กำมะถันหรือสารประกอบไพไรท์ โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งดินจะสัมผัสกับอากาศ ทำให้แร่กำมะถันกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กและซัลเฟต เมื่อทำให้ดินเปียก ซัลเฟตจะผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อ ดิน ถูก แกล้ง สลับไปสลับมา จนกลายเป็นดินที่เปรี้ยวหรือเป็นกรดจัด จนพืชไม่สามารถขึ้นและเติบโตได้ จึงให้หาทางแก้ไขความเป็นกรดจัดของดินโดยวิธีการต่างๆ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รัสนองพระราชดำริ ในการเสาะหาวิธีที่ดีที่เหมาะสมที่สุดคือ การใช้น้ำชะล้างดินควบคู่กับการใช้ปูนผนวกกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ลึกไม่เกิน ๑ เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แร่กำมะถันที่อยู่ในดินชั้นล่างสัมผัสกับอากาศในดินและปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา เมื่อกรดกำมะถันมีน้อยดินเปรี้ยวน้อยลง ทรงเรียกว่า ระบบซักผ้า โดยใช้น้ำจืดชะล้างน้ำเปรี้ยวออกไปยิ่งบ่อยขึ้นความเปรี้ยวก็ลดน้อยลง เมื่อมีปัญหาดินเปรี้ยวไม่มากก็สามารถปลูกพืชได้และปรับปรุงดินชั้นบนให้สามารถปลูกข้าว ถั่ว พืชผัก ผลไม้ ตลอดจนสามารถเลี้ยงปลาในบ่อได้ (ข้อมูลทรัพยากรดินโดย ดร.พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน)
๖) ดินเค็ม : ต้องล้างความเค็ม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินเค็ม โดยใช้ระบบชลประทานในการล้างเกลือที่ตกค้างบริเวณผิวดินและบริเวณลำห้วย เพื่อให้น้ำในลำห้วยเจือจางสามารถนำมาใช้สอยได้ตามปกติ ตัวอย่างโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีการทำนาเกลือบริเวณลำห้วย จึงมีพระราชดำริให้ขุดลอกลำห้วยบ่อแดง พร้อมยกคันดินให้สูง เพื่อป้องกันน้ำเกลือไหลลงสู่ลำห้วยตกค้าง และเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนาข้าวสามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ ผู้ประกอบการทำนาเกลือทั้งหลายจะต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งที่บริเวณลานตากเกลือ ขุดเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำเค็มที่ปล่อยทิ้งจากลานตากเกลือทั้งหมด เก็บไว้ในสระเพื่อรอการระเหยหรือไหลลงในดินโดยบ่อบาดาลเล็กๆ ที่ขุดขึ้น เพื่อระบายน้ำลงสู่ชั้นดินเค็มใต้ดินที่สูบขึ้นมา ขนาดของสระน้ำดังกล่าวจะมีขนาดและความลึกเท่าใดต้องกำหนดให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำทิ้งจากลานตากเกลือ และความสามารถของน้ำในสระที่ไหลลงไปใต้ดิน ทั้งนี้ ให้มีความสมดุลพอดีกัน โดยไม่ทำให้น้ำเค็มไหลล้นไปยังลำห้วยข้างๆ อีกต่อไป ดังนั้น ระบบการทำนาเกลือสินเธาว์ที่ได้มาตรฐานตามแนวพระราชดำริจึงมีบ่อรับน้ำทิ้งจากลานตากเกลือและการกำจัดโดยการอัดน้ำเหล่านี้สู่ชั้นเกลือที่สูบขึ้นมา ซึ่งสามารถป้องกันน้ำเค็มที่ระบายจากลานตากเกลือมิให้ไหลลงในร่องน้ำและพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดูเพิ่มเติม | ความสำคัญของทรัพยากรดิน / หมวดหมู่:หญ้าแฝก |
---|
จากหนังสือ "จอมปราชญ์แห่งดิน" จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)