ฝนหลวง-พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้อง
จาก WIKI84
(เปลี่ยนทางจาก นหลวง-พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้อง)
พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับฝนหลวง
ดังได้กล่าวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีพระราชดำริให้ทำฝนหลวงขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทรงสนับสนุนงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้น โดยทรงติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดมาทุกระยะ เมื่อทรงทราบว่า คณะปฏิบัติการฝนหลวงประสบปัญหาบางประการ ก็มีพระกรุณาพระราชทานข้อคิดเห็น ที่จะขจัดปัญหา และอุปสรรคต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานคำแนะนำ ให้ไปทดลองที่หัวหิน เป็นประจำทุกเดือน เพื่อหาข้อมูล ในการทำฝนหลวงให้ได้ตลอดปี ทรงแนะนำฝึกฝนนักวิชาการให้ สามารถวางแผนปฏิบัติการอย่างเหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น บางทีพระองค์ก็ทรงทดลองและควบคุมบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง ก่อนจะทำฝนหลวงแต่ละครั้งจะทรงเตือนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้ก่อความเสียหาย แก่พืชผล และทรัพย์สินของราษฏร ทรงให้เร่งปฏิบัติการเมื่อสภาพอากาศอำนวยเพื่อจะได้ปริมาณน้ำฝนมากยิ่งขึ้น ทรงแนะนำให้ระวังสารฝนหลวงบางอย่างซึ่งจะเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับฝนหลวงของพระองค์ มีเป็นอันมาก จะขอยกตัวอย่างให้ทราบดังนี้
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2512ทรงพระกรุณาเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปทอดพระเนตรการทดลองทำฝนหลวงของคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการครั้งที่ 5 พร้อมกับได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้คณะปฏิบัติการฯ พยายามอดทนต่อความยากลำบาก เพราะเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งในการ ช่วยให้ประชาชน คลายความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ทรงแนะนำให้ศึกษาข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางภาคพื้นดินให้มากยิ่งขึ้น เช่น แผนภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ทางภาคพื้นดินในอาณาบริเวณนั้น การสร้างเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศตอนใกล้พื้นดินให้สูงขึ้น พร้อมกับทรงสาธิตให้คณะเจ้าหน้าที่ดูวิธีการสร้างความชื้นสัมพัทธ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้รถดับเพลิงของพระราชวังไกลกังวลมาพ่นละอองน้ำให้เป็นฝอยขึ้นในอากาศ แล้วเสด็จฯ เข้าไปในละอองน้ำที่ฉีด เพื่อนำเครื่องมือเข้าไปวัดความชื้นโดยไม่หวั่นว่าพระวรกายจะเปียกเปื้อนแต่ประการใด ปรากฏว่าสามารถสร้างความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามที่ทรงรับสั่ง นอกจากนั้นยังทรงแนะนำว่าควร เพิ่มหน่วยสังเกตการณ์ภาคพื้นดินเพื่อจะได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนตามจุดต่างๆ และได้ข้อมูลอื่นๆ ละเอียดยิ่งขึ้น
ในการเสด็จทอดพระเนตรครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งคณะปฏิบัติการทดลองในครั้งนั้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จดจำไว้เปรียบเสมือนเป็นพระบรมราโชวาท และได้ปฏิบัติตามสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ พอสรุปได้ดังนี้
- การวิจัยและค้นคว้าทดลองเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด
- อย่าสนใจต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อให้เกิดความท้อแท้ใจให้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป
- ให้บันทึกรวบรวมไว้เป็นตำรา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองทำฝนหลวง พร้อมกับพระราชทานปีกเครื่องหมายฝนหลวงแก่คณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และทรงประกอบพิธีเจิมเครื่องบินทำฝนหลวงลำใหม่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณให้จัดซื้อสำหรับใช้ทำฝนหลวงเป็นลำแรก เพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตราย ในโอกาสนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะเจ้าหน้าที่จากประเทศออสเตรเลีย 3 นาย ซึ่งตามเสด็จไป ชมการทดลองทำฝนหลวงในครั้งนี้ได้เข้าเฝ้าฯ และทรงมีพระราชปฏิสันถารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำฝนหลวงกับผู้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์ ทั้งนี้ทำให้ชาวต่างประเทศทั้ง 3 นาย ต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกับชมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาชาญในเรื่องฝนหลวงอย่างยิ่ง
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ทรงควบคุมบัญชาการทดลองทำฝนหลวงสาธิตให้คณะผู้แทนรัฐบาลสิงค์โปร์รวม 3 นาย ชมที่บริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วยความมั่นพระทัยว่า จะสามารถทำให้ฝนตกในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้ การที่ทรงเลือกอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นเป้าหมาย เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศสิงค์โปร์ เพื่อคณะผู้แทนสิงค์โปร์อาจนำวิธีการไปปฏิบัติได้ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานนี้ นับเป็นเป้าหมายปฏิบัติการที่เล็กที่สุด ยากที่จะทำให้ฝนตกตรงเป้าหมายอันมีเนื้อที่จำกัดได้ การทดลองครั้งนี้ได้ใช้เครื่องบินของกองบินตำรวจร่วมกับเครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตั้งฐานปฏิบัติการที่ สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน โดยพระองค์ทรงควบคุมบัญชาการด้วยวิทยุของพระองค์เองจากแก่งกระจาน ด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงอ่างเก็บน้ำพอดี ภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง เป็นที่ตื่นเต้นและประทับใจของผู้แทนสิงค์โปร์เป็นอย่างยิ่ง
ระหว่างวันที่ 15 - 29 พฤศจิกายน 2515 ทรงวางแผนปฏิบัติการและบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักจิตรลดาฯ โดยทางวิทยุตำรวจ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ให้มากขึ้นในช่วงท้ายฤดูฝน ซึ่งไม่มีตัวการหรือดีเปรสชั่นที่จะทำให้เกิดฝนตก แต่สภาพภูมิอากาศที่เขื่อนภูมิพลขณะนั้นยังมีความชื้นสัมพัทธ์พอจะอำนวยให้ปฏิบัติการทำฝนหลวงได้ ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ทรงปฏิบัติการนั้น ตามสถิติของเขื่อนภูมิพลปริมาณน้ำในอ่างกำลังเริ่มลดระดับลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณฝนธรรมชาติเริ่มน้อยลงตามลำดับ การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินของเขื่อน ทำให้ฝนตกลงสู่ผิวน้ำและลุ่มรับน้ำของเขื่อนทุกวันคิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในอ่างถึง 620 ล้านลูกบาศก์เมตร และระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมถึง 150 เซนติเมตร แทนที่จะลดลงตามสถิติดังเช่นทุกปีมา ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้เมื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะเป็นมูลค่าไม่น้อย
ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม ถึง 26 สิงหาคม 2517 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฝนหลวงพิเศษ โดยทรงปฏิบัติการร่วมกับ คณะปฏิบัติการฝนหลวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงระยะยาวใน 16 จังหวัด ราษฎรขาดแคลนน้ำสำหรับต้นกล้าข้าว ส่วนกล้าที่ตกไว้ก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยง กำลังจะแห้งตายเป็นส่วนใหญ่ ชาวนาไม่สามารถไถเตรียมเทือก เพื่อปักดำกล้าข้าว ที่ได้อายุครบปักดำ นับเป็นพื้นที่แห้งแล้งกว้างใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยทำฝนหลวงมา จากรายงานของทั้ง 16 จังหวัดที่แห้งแล้งในภาคนี้ เป็นพื้นที่ถึง 17 ล้านไร่ การปฏิบัติการได้ใช้เครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่แบบ C123 ของกองทัพอากาศถึง 2 เครื่อง กับเครื่องบินปอร์ตเตอร์ ของกรมตำรวจอีก 2 เครื่อง สมทบกับเครื่องบินของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 8 เครื่อง ระดมกันปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นเวลา 45 วันโดยตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบิน จังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติการครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอำนวยการ และวางแผนปฏิบัติการประจำวัน เป็นส่วนใหญ่ ปรากฏว่า ก่อนลงมือปฏิบัติการชาวนาสามารถปักดำได้เพียงร้อยละ 5 ของเนื้อที่ปักดำทั้งหมดในภาคนี้ และหลังจากปฏิบัติการแล้วได้รับรายงานจากทุกจังหวัด ในเขตปฏิบัติการว่า ชาวนาสามารถตกกล้าข้าวได้เพิ่มขึ้น ทั้งช่วยกล้าข้าวที่เพาะไว้แล้วให้รอดพ้นจากความเสียหาย จนสามารถปักดำเป็นเนื้อที่เพิ่มเฉลี่ยประมาณร้อยละ 55 และมีหลายจังหวัดที่สามารถปักดำได้เกือบเต็มพื้นที่นาทั้งหมด
ข้อมูลจาก สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร
ห้ามนำข้อมูลของเว็บไซต์นี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร