หญ้าแฝก-รวมพระราชดำริ
รวมพระราชดำรัสเกี่ยวกับหญ้าแฝก
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รวบรวมพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาศต่างๆ ยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ณ สวนจิตรลดา และ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีใจความสรุปดังนี้
- ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหิน ซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- การดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะของพื้นที่ดังนี้
2.1. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ด้วย
2.2. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบให้ดำเนินการในลักษณะดังนี้
- ปลูกโดยรอบแปลง
- ปลูกในแปลง ๆ ละ 1 หรือ 2 แนว
- สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ - ผลของการศึกษาทดลองควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดิน และการเก็บความชื้นในดินและเรื่องพันธุ์หญ้าต่างๆ ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายประโมทย์ ไม้กลัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษกรมชลประทาน และ พ.ต.อ.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีใจความสรุปดังนี้
การอนุรักษ์หน้าดินด้วยวิธีทางธรรมชาติ
- ได้ทรงศึกษาการอนุรักษ์หน้าดินโดยวิธีธรรมชาติมานานแล้ว ซึ่งในแต่ละพื้นที่มักจะเปิดหน้าดินแล้วทำการเกษตร เช่น การยกร่องพรวนดินซึ่งยังถือว่าเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติซึ่งจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาฯห้วยทรายฯทำการเกษตรอย่างไม่ทำลายธรรมชาติเช่น การไม่ไถพรวนเปิดหน้าดิน เปลือยดิน เป็นต้น โดยให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาฯห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง แล้วหาทางแนะนำให้ราษฎรทำตามต่อไป
- ได้ทรงศึกษาเอกสารของธนาคารโลกเกี่ยวกับการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝกจึงให้ศูนย์ฯห้วยทรายฯ ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์หน้าดินโดยปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝก ในพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่น ขอบร่องน้ำแปลงมะม่วงหิมพานต์บริเวณที่ลาดชัน หรือตามร่องน้ำธรรมชาตินำหินไปกั้นเป็นฝายเล็กๆ แล้วปลูกหญ้าแฝกด้านหน้า หรือในพื้นที่ทำการเกษตรเช่นแปลงปลูกข้าวโพดเป็นต้นทั้งนี้ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการ และหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐานและให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาฯห้วยทรายฯทำเป็นตัวอย่าง
วันที่ 7 กรกฎาคม 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ท่านได้มี พระราชกระแสว่าขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วย เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายช่วยรักษาหน้าดิน โดยเฉพาะที่โครงการนี้มีที่ลาดชันหลายแห่งนอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดิน ใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย เมื่อได้รับพระราชกระแสแล้วโครงการฯจึงได้พยายามศึกษาเรื่องหญ้าแฝกและดำเนินการทดลองปลูกหญ้าแฝกภายในโครงการฯ ตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม 2534 โดยใช้พันธุ์หญ้าแฝกที่รวบรวมไว้จากบริเวณใกล้เคียงโครงการฯ และจากที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมาเป็นการปลูกทดลองเพื่อทดสอบและขยายพันธุ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัส ณ โต๊ะเสวยที่ 1 ภายในพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นำหญ้าแฝกไปปลูกตามฐานปฏิบัติการต่างๆ และหมู่บ้านใกล้เคียงแล้วขยายไปปลูกทั่วประเทศ เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการจัดระบบอนุรักษ์ดิน โดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามระดับชั้น และได้มีการศึกษาทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเซียหลายประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าการปลูกหญ้าแฝกยังส่งผลให้การเพาะปลูกพืชอื่นๆ ระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝกนั้นให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยม การดำเนินงานของโครงการหลวงที่ทำการที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝกซึ่งได้เก็บรวบรวมพันธุ์พื้นเมือง จากท้องถิ่นต่างๆในประเทศ รวมทั้งของต่างประเทศด้วยและยังได้เยี่ยมชมการทดลองปลูกหญ้าแฝกขวางร่องน้ำ เพื่อลดความแรงของน้ำและสะสมอินทรียวัตถุบริเวณหน้าแถวหญ้าแฝก หลังจากนั้นทั้งสามพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริดังต่อไปนี้
- หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆเ ป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดีจึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูก
- การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวระยะระหว่างต้นห่างกัน10-15ซม.ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่ การดูแลรักษาง่ายควรทำการทดลองปลูกในร่องน้ำ และบนพื้นที่ลาดชันให้มากเพื่อช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
- การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวความคิดใหม่ควรปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมากและการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อคัดพันธุ์ หาพันธุ์ที่ดีที่ไม่ขยายพันธุ์โดยออกดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้งในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการกปร.นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้คำปรึกษา การจัดสรรน้ำและปรับปรุงบำรุงรักษากรมชลประทาน และนายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต ผู้ช่วยเลขาธิการ กปร. เข้าเฝ้า รับเสด็จฯ และถวายงาน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองของศูนย์ฯ และได้พระราชทานพระราชดำริโดยสรุปดังนี้
- ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกซึ่งจะช่วยทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน อันจะสามารถปลูกพืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพดหรือต้นไม้ยืนต้นอื่นๆในบริเวณที่ปลูกหญ้าแฝกได้และ คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกก็คือหญ้า แฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจนและกำจัดสิ่งเป็นพิษหรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลองโดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน
- ให้ดำเนินการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะได้นำไปส่งเสริมและขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปโดยเฉพาะตามไหล่เขาที่จะมีการพังทลายของดินมาก เช่น ที่โครงการเขาชะงุ้มและที่วัดญาณสังวรารามก็ควรจะปลูกเช่นกันและทรงแนะนำวิธีการปลูกว่าสมควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหน้าฝนประมาณ 3 เดือน เพื่อที่จะให้ต้นหญ้าแฝกแข็งแรง พอที่จะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้ และยังทรงให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำในลักษณะที่เป็น Check Dam ด้วยตลอดจนที่สูงชันตามริมถนนที่เห็นดินเปลือยอยู่ให้นำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลายด้วย
วันที่ 14 มีนาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของศูนย์พัฒนา โครงการหลวงแม่ลาน้อย อำเภอ แม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระองค์ได้รับสั่งให้ชาวเขาเผ่าม้งปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของกะหล่ำปลี ซึ่งชาวเขานิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม นอกจากนั้นทั้งสามพระองค์ยังได้เสด็จทอดพระเนตรแปลงรวบรวมพันธุ์ แปลงขยายพันธุ์และทรงปลูกหญ้าแฝกไว้เป็นอนุสรณ์อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาการเกษตรที่สูงปางตอน ตำบลหมากจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริว่าในส่วนของการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำให้พิจารณาปลูกก่อนหน้าฝนสัก3เดือนในกรณีที่พื้นที่มีน้ำพอที่จะมารด ต้นหญ้าแฝกเพราะว่าจะทำให้หญ้าแฝกแข็งแรงเมื่อถึงหน้าฝนจะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้
วันที่ 14 พฤษภาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระที่นั่งจิตรลดารโหฐานมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้คือ
- ให้เร่งดำเนินการปลูกหญ้าแฝกให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยภายใน 2 ปี ถึงแม้การดำเนินงานอาจจะ สิ้นเปลืองงบประมาณบ้างก็ควรได้ดำเนินการ
- การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกควรเป็นพันธุ์ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- วิธีการปลูกเมื่อแยกหน่อควรมีรากประมาณ15ซม.เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องตัดถุงเพราะ รากหญ้าแฝกจะสามารถขยายมานอกถุงได้
- การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกทั้งในพื้นที่เพื่อการเกษตรขอบสระหรือแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนสามารถปลูกในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ เพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลไปสู่แหล่งเก็บน้ำ และรากหญ้าแฝกซึ่ง หนาแน่นจะมีส่วนในการเก็บความชุ่มชื้นในดินได้
- สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ดำเนินการปลูกในบริเวณหมู่บ้านมุสลิม เป็นแนวเพื่อเพิ่มปริมาณของหน้าดิน สำหรับโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มให้ดำเนินการ ปลูกในส่วนบนที่ติดกับเขาเขียวโดยให้ปลูกติดกันเป็นแถวเดียวโดยให้นำหน้าดินมาใส่เพิ่มเติมในระยะต้น เมื่อหญ้าแฝกขึ้นดีแล้วจะช่วยเพิ่มปริมาณหน้าดินได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริที่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริดังต่อไปนี้
- การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังอย่างมาก ควรเลือกพันธุ์ที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้ โดยเมล็ดเพราะถ้าเป็นพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยทางเมล็ดแล้วจะเป็นอันตราย
- การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำควรปลูกตามแนวระดับโดยรอบอ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แนว คือ
- แนวที่ 1 ปลูกตามแนวระดับสูง เท่ากับ ระดับเก็บกักน้ำ
- แนวที่ 2 ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม.
- แนวที่ 3 ปลูกตามแนวต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. (เพราะว่าน้ำมักจะไม่ถึงระดับเก็บกัก)
การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบพื้นที่เก็บกักน้ำจะให้ประโยชน์อย่างน้อย2ประการ คือ
2.1. ป้องกันดินพังทลายลงไปในอ่างเก็บน้ำ ทำให้อ่างน้ำไม่ตื้นเขินและถ้าต้องการขุดดินในอ่างไปใช้ประโยชน์ก็สามารถนำเครื่องจักรวิ่งข้ามแนวหญ้าแฝกไปขุดได้เพราะหญ้าแฝกจะไม่ตาย
2.2. การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบๆอ่างจะช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่างทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น อันจะเป็นการช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว - ควรทดลองปลูกในดินที่มีชั้นดานลงไปเล็กน้อยแล้วปลูกหญ้าแฝกและหลังจากนั้นปล่อยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตเป็นระยะเวลา 2-3 ปี จึงศึกษาว่ารากสามารถชอนไชผ่านชั้นดาน (หรือระเบิดดาน) ไปได้เพียงใด
- การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในร่องน้ำให้พิจารณาดำเนินการดังนี้
4.1. ในกรณีที่ร่องน้ำมีขนาดกว้างและลึกให้ปลูกหญ้าแฝกในลักษณะตัววีคว่ำในร่องน้ำ แล้วปลูกต่อเป็นแนวยาวไปตามเส้นชั้นความสูงในลักษณะก้างปลา โดยมีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวตั้ง1เมตรเพื่อชะลอการกัดเซาะร่องน้ำและกระจายน้ำให้ไหลซึมลงในดินหน้าแนวหญ้าแฝก
4.2. ปลูกเป็นแนวตรงขวางร่องน้ำเพื่อช่วยในการเก็บกักตะกอนไว้ในร่องน้ำจนในที่สุดร่องน้ำก็จะมีดินตะกอนทับถมจนเต็ม - ควรทดลองปลูกหญ้าแฝกในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาดเพื่อศึกษาดูว่าหญ้าแฝกจะสามารถควบคุมหญ้าคาได้หรือไม่ วิธีควรปฏิบัติก็คือปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบหญ้าคาหลังจากที่หญ้าแฝกตั้งตัวดีแล้วให้จุดไฟเผาหญ้าคา เพื่อดูว่าหญ้าแฝกสามารถป้องกันไฟลุกลามได้มากน้อยเพียงใด
- ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผลซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ดินรอบๆต้นไม้เป็นหลุม ในขณะเดียวกันก็สามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผลได้
- การปลูกหญ้าแฝกในแปลงเพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น
- ปลูกโดยรอบแปลง
- ปลูกในแปลง ๆ ละ 1 หรือ 2
- สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ - การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นของดิน
วันที่ 6 กรกฎาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตร โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่อีกวาระหนึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์ หญ้าแฝกและการปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ต้นเขาพระองค์ท่านได้มีพระราชกระแสแนะนำว่าควรปลูกให้ชิด กว่านี้เพราะยังไม่แน่ใจว่าหญ้าแฝกที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์อะไร และมีลักษณะอย่างไรต่อจากนั้นได้ทรงปลูก หญ้าแฝกในแปลงทดลองที่ได้เตรียมไว้โดยใช้พันธุ์ที่รวบรวมจากเขาเต่าหลังจากนั้นอีก 5 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญหญ้าแฝกมาตรวจสอบหญ้าแฝกที่โครงการฯ ผลการตรวจสอบปรากฏว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์ที่ดีมาก จึงทรงมีพระราชกระแสให้ขยายเพิ่มเติมเพื่อที่จะ ให้พื้นที่อื่นๆได้รับพันธุ์ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกบริเวณ พื้นที่แปลงทดลองปลูกหญ้าแฝกท้ายอ่างเก็บน้ำและได้พระราชทานพระราชดำริกับข้าราชการที่เฝ้ารับเสด็จฯ มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้
- ควรเร่งปลูกหญ้าแฝกให้มากๆเพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษในการอนุรักษ์ดินหลายประการโดย เฉพาะดินที่มีโครงสร้างแข็งดัง เช่น ที่ห้วยทรายนี้หญ้าแฝกจะทำหน้าที่เป็นเขื่อนที่มีชีวิตที่จะช่วยทำให้ดิน มีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
- ในการปลูกหญ้าแฝกตามแนวลาดเอียงควรให้แต่ละแถวห่างกันมากขึ้นประมาณ 1-2 เมตรตามแนวดิ่ง เพื่อประหยัดหน่อพันธุ์แต่ควรปลูกชิดๆ กัน เพื่อให้หญ้าแฝกมีผลเร็วขึ้น ถ้าจะปลูกไม้ผลควรปลูกหญ้าแฝก เป็นรูปครึ่งวงกลมล้อมต้นได้ผลคล้ายฮวงซุ้ย
- ควรปลูกหญ้าแฝกเหนือแหล่งน้ำเพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมีตลอดจนของเสีย ต่างๆ ไว้ในรากและลำต้นไว้ได้นานจนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป
วันที่ 28 สิงหาคม 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดังนี้ "การปลูกหญ้าแฝกถ้าปลูกเป็นกอใหญ่และห่างประมาณ 15 ซม. ถ้าปลูกใกล้ๆ คือ 2 - 3 ซม.และ ใช้กอเล็กก็จะเชื่อว่าเมื่อเติบโตมักจะปิดแถวได้ดีกว่า ความสิ้นเปลืองของหญ้าแฝกก็อาจจะน้อยกว่า หลังจากปลูกก็จะติดกันได้ผลภายในไม่กี่เดือน แต่อย่างกอที่ปลูกห่างกว่าจะได้ผลก็ 2 ปี เพราะฉะนั้นไม่ทันการณ์ ที่ดอยตุงนั้นเพาะปลูกหนามากจึงสิ้นเปลืองมาก แต่เป็นการทดลองหวังผลรวดเร็ว สรุปได้ว่า ต้องทำกอเล็กลงไปหน่อย แล้วก็ปลูกให้ใกล้และชิดกัน สำหรับระยะห่างของแต่ละแถวแต่เดิมเป็นแนวลาดเท 2 เมตรต่อแถว แล้วก็อยู่บนและต่ำลงมาส่องระดับลงมาให้ได้ระดับ 2 เมตรก็อาจจะไม่ถึง 2 เมตรก็ได้ประมาณ 1.50 เมตร เพื่อความสะดวก ถ้าเป็น 1.50 เมตร สะดวกกว่าเพราะประมาณความสูงของคน ซึ่งถ้า 2 เมตรต้องเขย่งส่อง แต่ถ้าส่องระดับนี้ก็จะสะดวกกว่า ทำแถวให้ได้ขนานกับทางเทแล้วอีกแถวลงมาจะส่องได้พอดีเดินส่องไปสะดวก"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก(เพิ่มเติม) กับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายจริย์ ตุลยานนท์ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร นายรุ่งเรือง จุลชาต นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายสิทธิลาภ วสุวัต นายสิมา โมรากุล นายพยุง นพสุวรรณ และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปได้ดังนี้
- ทรงเน้นถึงระยะปลูกหญ้าแฝกควรปลูกให้ชิดโดยให้ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร
- การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่ไม้ผลและไม้ยืนต้นในลักษณะเป็นแนววงกลมรอบโคนต้นไม้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหารากของหญ้าแฝกที่มีจำนวนมากเกินไป จะแย่งอาหารจากต้นไม้อันจะเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ให้เปลี่ยนเป็นการปลูกเป็นแบบครึ่งวงกลมด้านล่างของ Slope เพื่อแก้ไขปัญหานี้เพื่อช่วยให้หญ้าแฝกได้ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
- การวางแนวปลูกหญ้าแฝกแบบรูปตัววีคว่ำเพื่อแก้ไขการเกิดร่องน้ำแบบลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ (Gully Erosion) ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับพาดผ่านร่องน้ำและให้ระดับของแนวหญ้าแฝกตอนบน (ปลายแหลมของตัววีคว่ำ) มีระดับสูงกว่าด้านล่างเมื่อน้ำไหลลงมาตามความลาดเทของพื้นที่มาถึงแนวหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยลดการกัดเซาะในร่องน้ำและจะช่วยให้เกิดการทับถมของตะกอนในร่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดินเจาะลึกลงไปในชั้นของดินลูกรัง จากนั้นให้ใช้ดินดีใส่ในหลุมที่สว่านเจาะ แล้วจึงปลูกหญ้าแฝกรากหญ้าแฝกจะเจริญเติบโตหยั่งลึกลงไปในชั้นหินลูกรังได้ดียิ่ง
- ให้พิจารณาปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ให้ทั่วพื้นที่
วันที่ 6 สิงหาคม 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงตรวจเยี่ยมผลการปฏิบัติงาน ในพื้นที่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก (เพิ่มเติม) กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล นายประวิทย์ ทับทิมอ่อน นายชัยชาญ ชโลธร และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปได้ดังนี้
- การปลูกหญ้าแฝกถ้าปลูกแนวชิดกันมากๆ หรือปลูกรอบโคนไม้ผลเป็นวงกลม ถ้าปลูกใกล้ต้นไม้มากเกินไปจะทำให้ต้นไม้ขาดน้ำ เพราะหญ้าแฝกใช้น้ำมากและน้ำจะซึมหารากไม้ผลได้ยาก เพราะรากหญ้าแฝกกั้นไว้ที่ปลูกไว้เป็นครึ่งวงกลมและกอชิดกันนั้นถูกต้องแล้ว (งานวิชาการเกษตรสวนสมเด็จฯ)
- บริเวณพื้นที่ปลูกป่าเชิงเขาทองอย่าทำแบบปอกเปลือกปุ๋ยจากเขาจะลงมาดิน และน้ำจากเขาจะลงมาควรต่อขยายแนวหญ้าแฝกออกไปอีกควรปลูกเป็นรูปตัววีคว่ำในไม่ช้าก็จะเต็มร่องในที่เป็นร่องน้ำลึก ควรทำคันดินหรือคันหินขวางน้ำก่อนเพื่อทำเป็นทำนบเล็ก ๆ (Check Dam) อย่าปลูกลงไปในร่องน้ำโดยตรง นอกจากนั้นพื้นที่ระหว่างแถวหญ้าแฝกที่เป็น Contour ดินจะมีคุณภาพดีขึ้นน่าจะให้เกษตรกรปลูกพืชล้มลุก ทั้งนี้การปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดินซึ่งได้ใช้สว่านเจาะดินแบบมือหมุนเจาะเป็นบางส่วน ที่เขาชะงุ้มขุดให้เป็นร่องเพื่อให้รากหญ้าแฝกชอนไชไปในดิน
- วิธีการปลูกหญ้าแฝกแซมในช่องว่างแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดาน ให้ใช้สว่านเจาะตามแนวช่องว่างโดยใส่ปุ๋ยหมักลงไปตามร่อง
- ควรใช้กรรไกรตัดหญ้าแฝกให้มีความสูงประมาณ 30ซม. ดินที่อยู่ระหว่างแถวหญ้าแฝกจะอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยธาตุอาหาร ซึ่งควรปลูกพืชล้มลุกหรือไม้ผลแซม - ทรงสาธิตวิธีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝก โดยการขุดเป็นร่องตามแนวช่องว่างและใช้ดินผสมปุ๋ยหมักใส่ในร่องแล้วปลูกหญ้าแฝกให้ชิดติดกันระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร ตามแนวช่องว่างแล้วให้ตัดใบหญ้าแฝกหัวท้ายช่องว่างให้เหลือ 30 เซนติเมตร เพื่อให้หญ้าแฝกที่ปลูกใหม่ได้รับแสงแดดควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าหญ้าแฝกจะตั้งตัวได้ ดินที่ทับถมเหนือแนวรั้วหญ้าแฝกเป็นดินที่ดีมากดินลึกถึง 35 เซนติเมตร ขอให้เร่งรัดหญ้าแฝกแก้ไขช่องว่างเพื่อให้แนวรั้วหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยให้ดินดียิ่งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังนี้
- จุดเสด็จฯที่ 1 งานศึกษาทดลองการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกเพื่อพัฒนาดินดานท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ทรงมีพระราชดำริดังนี้
- ให้หาวิธีเจาะลงไปในชั้นดินดานแล้วนำดินที่มีความร่วนซุยใส่ลงไปในหลุมสำหรับปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหญ้าแฝกสามารถทะลุดินดานไปได้หญ้าแฝกจะนำความชื้นไประเบิดดินให้ร่วนซุยมากขึ้น
- ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนว Contour ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5 ซม. เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และช่วยทำให้เกิดหน้าดินมาทับถมกันบริเวณแนวรั้วหญ้าแฝก ซึ่งต่อไปจะใช้ดินทำการเพาะปลูกได้
- การปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบต้นไม้ควรปลูกแบบฮวงซุ้ย (ครึ่งวงกลม) เพื่อช่วยเก็บกักความชื้นให้แก่ต้นไม้ - จุดเสด็จฯที่ 2 งานอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณลุ่มน้ำเขาบ่อเชิงทรงมีพระราชดำริดังนี้
- ให้ปลูกป่าและหญ้าแฝกตามแนว Contour เมื่อเวลาฝนตกลงมาจะพัดพาเศษใบไม้มาติดอยู่ที่แนวหญ้าแฝก เป็นการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์โดยกรมป่าไม้มีหน้าที่ปลูกป่า และกรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ปลูกหญ้าแฝก ซึ่งศูนย์ฯห้วยทรายจะเป็นหน่วยงานกลางที่ให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันประสานดำเนินการ
วันที่ 23 เมษายน 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯมีพระราชดำริดังนี้
- จุดเสด็จฯที่ 1บนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊กมีพระราชดำริดังนี้
- เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยทำให้ดินมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เมื่อใบไม้ย่อยสลายส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกในระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่ชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่งเมื่อมีการตัดไม้ออกแฝกก็จะเจริญได้อีกครั้งให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานเป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุม เพื่อดันชั้นดินดานให้แตก สามารถดักตะกอนตลอดจนใบไม้ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น - จุดเสด็จฯที่ 2 ศาลาทรงงานบริเวณอุทยานมัจฉามีพระราชกระแสกับผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯดังนี้
ให้ศึกษาการปลูกหญ้าแฝกในดินดานของตำบลเขาหินซ้อนซึ่งได้เคยให้ทำในดินดานที่เขาซะงุ้ม (โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาซะงุ้มฯอ.โพธารามจ.ราชบุรี) และห้วยทราย (ศูนย์ศึกษาฯห้วยทรายฯ อ.ชะอำจ.เพชรบุรี) มาแล้ว
วันพืชมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังแปลงนาสาธิตในสวนจิตรลดา และได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัส และพระราชดำริแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูชีพ หาญสวัสดิ์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องอนุรักษ์ดินดังนี้
- การอนุรักษ์ดินก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ตามที่พระราชทานพระราชดำริแล้ว การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวางเพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ได้ทดลองทำครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯและที่โครงการเขาซะงุ้มฯ ด้วย ตลอดจนเข้าไปดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อีกหลายแห่ง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ ด้วย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้ "บัณฑิตทุกคนควรจะได้สนใจสังเกตศึกษาเรื่องราวบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มากอย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาได้หญ้านั้น มีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษ และหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝกซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนาทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และพระราชทานพระบรมราโชวาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝกขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้
"สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้นจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั่วไป ด้วยจึงจะได้ผลที่พึงประสงค์อย่างเช่นการปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผง และวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชัน และร่องน้ำบนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลง หรือปลูกตามร่องสลับ กับพืชไร่ในพื้นที่เก็บกักน้ำ จะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีดังนี้จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินรักษาความชุ่มชื้นในดินเก็บกักตะกอนดิน และสารพิษต่างๆไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้นบัณฑิตผู้จะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงานต่อไป จึงควรจะได้ศึกษาพิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมที่กล่าวนี้ให้ทราบชัด"
วันที่ 23 มิถุนายน 2541
มีพระราชดำริ ณ พระราชนิเวศมฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วยก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติเช่นนี้ดินนั้นจะหมดไปเลย เหลือแต่ดินดานและทราย และดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตื้นเขินน้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบ และน้ำที่ลงมาจากเขาจะลงมาโดยเร็วเพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมอย่างฉับพลันและท่วม
วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 มีพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ให้ศึกษาทดลองประสิทธิภาพของหญ้าแฝกว่าจะสามารถทนเค็มได้ในระดับใด หญ้าแฝกจะกักน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏิกรณ์น้ำและปุ๋ย ไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทานและป่าไม้…ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้วหญ้าแฝกนั้นเวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติดหญ้าแฝกก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไปแล้วดินนี้นานไปก็จะเป็นดินที่เป็นประโยชน์ปลูกต้นไม้ได้ดี พื้นที่ดินเลวที่มีการชะล้างพังทลายอย่างรุนแรงและมีชั้นดานแข็งให้นำหญ้าแฝก และพันธุ์ไม้ที่สามารถขึ้นได้ในพื้นที่มาปลูก โดยทำการเจาะหลุมปลูกแล้วเอาดินที่มีอาหารใส่ในหลุม แล้วเพิ่มความชื้นลงไป รวมทั้งพยายามสร้างแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ซึ่งจะทำให้หญ้าแฝกและพันธุไม้ที่ปลูกเจริญเติบโต ทั้งนี้ความชื้นที่สร้างขึ้นจะช่วยสลายโครงสร้างดินดาน ทำให้เกิดการสร้างดินที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่โดยธรรมชาติ แนวทางการพัฒนาดินที่ถูกต้องคือจะต้องพัฒนาดินโดยไม่ทำการปอกเปลือกดิน
พระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (บริเวณพื้นที่เขาบ่อขิง)
วันที่ 20 เมษายน 2543 มีพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (บริเวณพื้นที่เขาบ่อขิง) ให้ทดลองปลูกไม้สาธรร่วมกับหญ้าแฝกต่อไปและทำการศึกษากับไม้ชนิดอื่น ๆ ว่า ชนิดใดจะเหมาะสมกับพื้นที่ดินดานได้ดี การแก้ไขดินเลวโดยวิธีทางธรรมชาติ โดย
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้ดินดานแตกตัวจะทำให้น้ำซึมผ่านไปได้
- ปลูกต้นไม้ควบคู่กับการปลูกหญ้าแฝก ต้นไม้จะเจริญเติบโตในดินดานได้ เนื่องจากแฝกให้น้ำและช่วยดึงไนโตรเจน
มีพระราชดำริกับ ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี เจ้าหน้าที่โครงการหลวง ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ การนำร่องการใช้หญ้าแฝกกับดินเหนียวในการก่อสร้างยุ้งฉางราคาถูก เป็นตัวอย่างแก่กสิกรรมในชนบท ให้ทำการทดลองเก็บข้าวเปลือกจริง เพื่อพิจารณาลู่ทางการควบคุมความร้อนที่เกิดจากการเก็บเมล็ดข้าวเปลือกในยุ้งฉางแบบนี้ และให้ใช้หลังคายุ้งฉางแบบบ้านของเชาวเอสกิโม (Igloo) เพื่อแก้ไขปัญหาความร้อน และความชื้นที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บข้าวเปลือก และให้มีการศึกษาเพื่อการป้องกันความเสียหายของพื้นผิวภายนอกของยุ้งฉางเมื่อถูกความชื้น ให้ศึกษาเรื่องหญ้าแฝกและสกัดสารสำคัญมาเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันกำจัดปลวก ให้มีการศึกษาการพัฒนาเยื่อหญ้าแฝกให้ปลวกไม่สามารถทำลายได้ โดยการพิจารณากำจัดสารที่เป็นอาหารของปลวกเสียตั้งแต่ต้น จะได้ไม่มีปัญหาเมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม
การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุแทนไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายใน โดยให้มีการศึกษาความคงทนของแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกต่อสภาพการทำลายของปลวก และการศึกษาเพื่อหาวัสดุภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุที่เป็นตัวประสานจากต่างประเทศ การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุก่อสร้างทางวิศวกรรมที่ประหยัด ปลอดมลภาวะประหยัดพลัง งาน ชาวบ้านสามารถทำได้เอง โดยเถ้าหญ้าแฝก สัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกเป็นวัสดุทดแทนซีเมนต์และผลที่ได้รับโดยเน้นเรื่องความแข็งแรง ความทนทาน ส่วนการประยุกต์ใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นวัสดุเสริมแรง สัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกโดยเน้นเรื่องการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าและทดแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์ การแสดงแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของการไหล ลักษณะการกัดเซาะและการกักเก็บตะกอนของระบบแถบหญ้าแฝก ดังนี้
- ให้มีการขยายแบบจำลองจากแบบจำลองแสดงแนวคิด เป็นแบบจำลองที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับทางวิศวกรรม รวมทั้งให้มีการทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลในภูมิประเทศจริงด้วย
- ให้นำข้อมูลที่ได้รับจากแบบจำลองไปประยุกต์ใช้แถบหญ้าแฝกเพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรม
- ให้มีการศึกษาการใช้แถบหญ้าแฝกและพืชพันธุ์ ลดหรือป้องกันสารไนเตรทจากการทำการเกษตรซึมซับลงในดิน ลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำใต้ดินในระดับล่าง
- การใช้ความชุ่มชื้นของแถบหญ้าแฝกลดหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดจากไฟป่า
รูปแบบการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชรายได้แบบครบวงจร โดยเน้นการจัดกลุ่มกสิกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณ คุณภาพและสายพันธุ์ที่กำหนดได้ เพื่อเป็นการแยกออกจากการส่งเสริมการปลูกเพื่อป้องกันรักษาดิน โดยให้ระมัดระวังการปลูกแยกจากระบบอนุรักษ์ ซึ่งแฝกเป็นพืชที่มีรายได้สู่เกษตรกรก็ให้ทำไปโดยให้วิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง ในการลดต้นทุนการผลิตให้ขยายพันธุ์โดยใช้ Tiller ที่แยกออกมา แนวทางการใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นอุตสาหกรรมภาชนะเมลามีน โดยให้มีการพิจารณาผลิตภาชนะหรือเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับสีตามธรรมชาติของเยื่อหญ้าแฝก และให้พิจารณาจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ภาชนะเมลามีนจากเยื่อหญ้าแฝกได้ ลู่ทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยค้นคว้าและผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกของมูลนิธิโครงการหลวง ดังนี้
- ให้คณะทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหญ้าแฝก เร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้คิดริเริ่มไว้ต่อไป เพราะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
- ผลงานใดที่สามารถดำเนินการจดสิทธิบัตรได้ ขอให้คณะทำงานสิทธิบัตรหญ้าแฝกรีบดำเนินการเพื่อจะได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปในภายหน้า
พระราชดำริกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 13 กันยายน 2545 มีพระราชดำริกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับปรุงเปิดพื้นที่เป็นอันมาก โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขาควรที่จะต้องมีการใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นพืชนำเพื่อฟื้นคืนสภาพพื้นที่และภูมิทัศน์ และความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่นั้นอย่างได้ผล หน่วยงานศูนย์สาธิตฯ สวนพฤกษศาสตร์ ควรมีงานส่งเสริมด้านกล้าพันธุ์แฝกด้วย รวมถึงการให้ข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกต้อง รากยาว และกรรมวิธีการปลูกที่ถูกต้อง แผนแม่บทหญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 1 และ 2 ได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทหญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 3 ให้เสร็จโดยเร็ว
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 มีพระราชดำริ ณ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ควรปลูกหญ้าแฝกก่อน หรือพร้อมกับปลูกป่าโดยเฉพาะที่ลาดชัน โดยต้องปลูกให้ถูกวิธี คือขวางแนวลาดชัน เพราะในแผนที่ ปตท. แสดงการปลูกป่าจะเป็นแนวลงมาเหมือนที่ชาวเขาปลูกกะหล่ำ โดยให้สังเกตที่ลำห้วยด้านล่างภูเขาจะเห็นดินลงไปกองอยู่เต็ม ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกันไฟป่าของแปลงปลูกป่า เพราะการปลูกป่าของหน่วยงาน ต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟ ต้องใช้รถจักรยานยนต์เพื่อตรวจป่า ขอให้ใช้วิธีปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวเพราะหญ้าแฝกนั้นต่างกับหญ้าคา ซึ่งหน้าแล้งจะแห้งติดไฟง่าย แต่หญ้าแฝกหน้าแล้งจะเขียวเพราะมีรากลึกดูดความชื้นตลอดเวลาจะเป็นแนวกันไฟโดยธรรมชาติ
พระราชทานพระราชดำริกับ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและคณะวิจัย ณ ศาลาเริง วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 พระราชทานพระราชดำริกับ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและคณะวิจัย ณ ศาลาเริง วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การนำใบหญ้าแฝกมาอัดเป็นแผ่นและนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนไม้จริงจะช่วยลดการนำเข้าไม้ รวมทั้งลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตแผ่นแฝกอัดใช้กาว ซึ่งต้องนำกาวเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาใช้กาวซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศที่มีคุณภาพดีและราคาถูกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศ สำหรับใบแฝกที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ควรมีการศึกษาด้วยว่าหากมีการส่งเสริม และดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมแล้วจะมีวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่ โดยปกติหญ้าแฝกจะมีใบมาก และมีการเจริญเติบโตได้เร็ว ควรมีการศึกษาให้มีการนำใบไปใช้อย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับวัตถุประสงค์หลักคือการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน ดังนั้นหากจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นควรพิจารณาเตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกโดยเฉพาะ และควรวิจัยการนำวัตถุดิบอื่นที่เหมาะสมมาเป็นส่วนผสมในการทำแผ่นไม้อัดด้วย หญ้าแฝกเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นอกจากคุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วย ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากของหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดินยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกอและใบหญ้าแฝกที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตร ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนูไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืช และผลิตผลในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งใช้ป้องกันงูได้อีกด้วย ปลวกมีหลายชนิด บางชนิดก็ทำลายบ้านเรือน แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ทำให้ดินดีและปลวกที่กินหญ้าแฝกยังไม่ตายทันที เพียงแต่ทำให้ปวดท้องเท่านั้น การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟ เป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหญ้าแฝกที่จะช่วยลดความเสียหายจากไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นในป่าปลูก หรือป่าธรรมชาติควรปลูกแฝกก่อนหรือร่วมกับแปลงปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะบนภูเขาจะช่วยป้องกันการชะล้างดินและป้องกันไฟป่าได้เพราะแฝกทนไฟ ใบจะสดตลอดปีและรากที่หยั่งลึกลงในดินจะช่วยดูดความชื้นไว้ ดังนั้น การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟจะช่วยป้องกันไฟป่าในฤดูแล้งได้ การปลูกยูคาลิปตัสและสนบนภูเขา มักเกิดไฟไหม้ทุกปีควรพิจารณาปลูกแฝกร่วม การนำรากหญ้าแฝกมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ถึงแม้ว่ามีราคาแพงควรมีการศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับการปลูกแฝกเพื่อผลิตโดยเฉพาะ ไม่ควรมีการขุดกอแฝกเพื่อนำรากมาใช้ในการนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย
วันที่ 4 สิงหาคม 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และข้าราชการระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
ต้องปลูกตามแนวขวางของลาดเขาจะเก็บน้ำได้ ถ้าปลูกตามแนวลาดดินไหลหมด ทำตามแนวขวางใช้แทรกเตอร์ไถคว่ำ ที่เขาเต่าแม้แต่เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินปลูกแฝก ดินนอก ไม่เปรี้ยวเป็นด่างมาก หญ้าแฝกมีหลายชนิด ชนิดที่ดีปลูกแล้วไม่ออกดอก ไม่เหมือนหญ้าคา หลังคาที่มุงแฝกทนมาก แฝกดีใบหนาไม่ติดไฟง่าย ปลูกขวางเป็นระยะๆ หญ้าคาติดไฟง่ายในหน้าแล้ง ปลูกใต้ต้นไม้ช่วยซับน้ำ แฝกช่วยไม่ให้หญ้าคาขึ้น หญ้าแฝกช่วยทั้งแล้งทั้งท่วม