ศ-เศรษฐกิจพอเพียง-ทางเลือกในการพัฒนา(2)

จาก WIKI84
 

"เศรษฐกิจพอเพียง: ทางเลือกในการพัฒนา (ต่อ)"


โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
สิงหาคม 2547


เศรษฐกิจพอเพียงกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จากหลักการสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งให้ความสำคัญกับการ “พึ่งพาตนเอง” ในระดับครอบครัวและในระดับชุมชนเป็นลำดับแรกก่อน เมื่อเกิดความมั่นคง และเข้มแข็งแล้วจึงขยายไปสู่ภายนอก โดยเน้นรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยรวม ดังจะเห็นได้ว่ารูปแบบการดำเนินงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ นั้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน กล่าวคือการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยึดถือหลักสำคัญในการพัฒนาคือ “การพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับความจำเป็น” “เรียบง่ายและประหยัด” เป็นไปตาม “ภูมิศาสตร์” และ “ภูมิสังคม” หรือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึง “การส่งเสริมความรู้และเทคนิคทางวิชาการที่เหมาะสม” ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างกรณีของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ได้น้อมนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เนื่องด้วยทรงตระหนักดีว่า ราษฎรในชนบทส่วนใหญ่ขาดความรู้ ขาดเครื่องมือหรือเทคโนโลยีในเรื่องการทำมาหากิน ประกอบกับภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศล้วนมาจากปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกันไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น การสร้าง “ตัวอย่างความสำเร็จ” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยทางกายภาพของแต่ละพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในอันที่จะส่งเสริมให้ราษฎรศึกษา และนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาการเกษตรของตนเอง โดยการดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นการศึกษาสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ด้วยการจำลองสภาพโดยรวมทางกายภาพของภูมิภาค ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฯ ว่า

“วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาก็คือ การพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนฟื้นฟูป่าและ ใช้หลักวิชาการเกษตรในการวางแผนการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ โดยใช้เงินจากการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นทุนในการพัฒนา ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จะเป็นฟาร์มตัวอย่างที่เกษตรกรทั่วไปและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา สามารถเยี่ยมชม ชมการสาธิตเกี่ยวกับการเกษตรกรรมเพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ บริเวณโครงการให้มีความเจริญขึ้น เมื่อราษฎรเริ่มมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็อาจพิจารณาจัดตั้งโรงสีข้าวสำหรับหมู่บ้านแต่ละกลุ่ม ตลอดจนจัดตั้งธนาคารข้าวของแต่ละหมู่บ้านเพื่อฝึกให้รู้จักพึ่งตนเองได้ในที่สุด”
โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แห่งแรกคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 จนถึงปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งสิ้น 6 แห่ง คือ

1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


  • ลักษณะสำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ

1. “ตัวอย่างความสำเร็จ”

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นี้มีหลักอยู่ว่า ทำไปแล้วถ้าได้ผลดีก็จดเอาไว้กลายเป็นตำราซึ่งเป็นหลักของตำราทั้งหลายที่ต้องมาจากประสบการณ์ อันนี้เป็นประโยชน์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อย่างหนึ่งที่ว่า ไม่ใช่สถานทดลอง แต่ว่าเป็นการทดลองแบบที่เรียกกันเอง หรือแบบไม่เป็นทางการ”

ในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จึงเป็นการดำเนินงานที่มุ่งศึกษา ทดลองหาแนวทางในการพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย และแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และประหยัด สำหรับผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็น “ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ” ที่เกษตรกรและประชาชนสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ ส่วนผลการทดลองที่ไม่ประสบผลสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ ในแง่ที่เป็นข้อพึงระวังสำหรับการนำไปใช้ในการปฏิบัติ หรือปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางอื่นที่เหมาะสมต่อไป ตามที่ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นี้ ถ้าทำอะไรล้มเหลวไม่ถือว่าเป็นสิ่งต้องลงโทษ แต่ว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทำอย่างนั้นไม่เกิดผลหรือจะเป็นผลเสียหายก็เป็นได้ เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว อาจจะทำต่อก็ได้ เป็นการแสดงว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก ก็เป็นตำราเหมือนกัน ทำอะไรไม่ถูกให้รู้ว่าไม่ถูก"


2. “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”

การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นการจำลองเอาสภาพทางกายภาพ อันได้แก่ ภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งนี้เพื่อศึกษาทำความเข้าใจจากสภาพความเป็นจริง เพื่อให้เกิดการพัฒนายกระดับทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและสังคมของภูมิภาคนั้น ตลอดจนภูมิปัญญาพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต


3. “ระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว”

เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนและความยุ่งยากในการติดต่อกับหน่วยราชการ โดยให้ประชาชนสามารถรับบริการต่าง ๆ ทางการเกษตรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ได้ในที่เดียว หรือที่เรียกว่า “One Stop Service” เนื่องจากภายในศูนย์ฯ ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน กรมที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ ความตอนหนึ่งว่า
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นศูนย์ศึกษาที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่า ประชาชนซึ่งจะต้องการสิ่งทั้งหลาย ก็สามารถจะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้รับความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายความถึงว่า สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์”


4. “รูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการ”

เนื่องจากโครงการพัฒนาพื้นที่ด้านการเกษตรมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันในหลายด้าน เช่น น้ำ ที่ดินทำกิน พันธุ์พืช ปศุสัตว์ การประมง ตลอดจนกระทั่งการตลาด ดังนั้น การดำเนินงานจึงต้องมีลักษณะเป็น “องค์รวม” ซึ่งการประสานในระบบราชการแบบเดิมไม่สามารถเอื้อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการได้ ดังนั้น การดำเนินงานของศูนย์ฯ จึงเป็นการรวมเอาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลมาทำงานร่วมกัน โดยมีสำนักงาน กปร. และสำนักเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบของการทำงานตามแนวราบ ที่ยึดประสิทธิภาพของการทำงานเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง

สรุป

นับจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งคนไทยทุกคนล้วนจดจำได้อย่างชัดเจนว่า
“พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขาย รู้ว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้”

ดังนั้น การปรับทิศทางและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่เป็นอยู่เพียงให้มีเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่หรือใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องใหญ่โต มีความสลับซับซ้อนและผูกพันธ์กับการตัดสินใจไม่เฉพาะแต่ภาครัฐทั้งระบบ แต่ขยายไปถึงองค์กรเอกชนซึ่งเกือบทั้งหมดได้เข้าไปอยู่ในเศรษฐกิจที่เกินพอ เกินตัวมาโดยตลอด การที่จะให้เกิดความสมดุล โดยดำเนินอยู่ในทางสายกลางทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยให้สอดคล้องไปทุกขั้นตอนของศักยภาพที่มีการผลิต ทั้งระบบเศรษฐกิจจึงต้องอาศัยเวลาและความเพียร ดังที่มีกระแสพระราชดำริข้างต้น

อย่างไรก็ดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงขยายความในส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในรูปของทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ได้ทำให้สังคมไทยมีหลักยึดให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี (good governance) รวมถึงการวิเคราะห์ในทางเศรษฐศาสตร์ในระดับการผลิตและการจัดเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจครบวงจร (optimization through proper risk management) ได้ต่อไปในอนาคต

ในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในรูปของการเกษตรทฤษฎีใหม่ ดังที่ปรากฏผลสำเร็จในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหกศูนย์ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวปฏิบัติทางเกษตรกรรมที่ต้องปรับตามความเหมาะสมของพื้นที่และต้องอาศัยการบริหารจัดการทั้งในภาครัฐ และองค์กรพัฒนาต่างๆ ในการเสริมสร้างให้เกิดการขยายโครงข่ายของชุมชน นับจากต้นแบบโครงการนำร่องในการพัฒนาของวัดมงคลชัยพัฒนา และโครงการขุดสระเก็บกักน้ำ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีการสาธิตทฤษฎีใหม่ของบ้านแดนสามัคคี

ประการที่สำคัญ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ได้บรรจุเป็นแผนงานพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนของชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งสร้างศูนย์สาธิตการเกษตรทฤษฎีใหม่มากถึง 8,000 ศูนย์ และยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้โครงการรวมน้ำ + ใจ ถวายในหลวงอีกด้วย ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ยังได้สนับสนุนการประกวดคัดเลือกแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ดีเด่นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาหกรอบ ซึ่งที่ได้ประกาศผลไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ถือได้ว่าเป็นเสมือน “National Agenda” ที่สำคัญยิ่งของชาติ ซึ่งควรจัดทำและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติได้ตลอดไป

กลับหน้า 1


ดูเพิ่มเติม ตัวอย่างความสำเร็จ / ทฤษฎีใหม่ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ