ตัวอย่างความสำเร็จ

จาก WIKI84
 

ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการอื่นๆ และเกษตรกรที่นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

1. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

วันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงทฤษฎีใหม่ วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี
จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ บ้าน วัด และราชการ (โรงเรียน) ร่วมกันดำเนินงานพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่ดำเนินการ 32-0-47 ไร่ ให้เป็นสถานที่ต้นแบบของการพัฒนาในลักษณะผสมผสานและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กที่

มีสภาพแห้งแล้ง ให้เป็นศูนย์กลางในการบริการด้านการเกษตรกรรมและอื่นๆ รวมทั้งเป็นการสาธิตให้ราษฎรสามารถนำรูปแบบการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ และสามารถพึ่งตนเองได้ บนรากฐานของความประหยัด และความสามัคคีในท้องถิ่น ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา แรกเริ่มได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 แปลง เพื่อศึกษาและสาธิตการเกษตรให้แก่ราษฎรได้สามารถนำไปปฏิบัติใช้กับพื้นที่ของตนเองโดย

พื้นที่แปลงที่หนึ่ง เป็นแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานจำนวน 16-2-23 ไร่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยมุ่งถึงการปรับปรุงดินให้มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น จากนั้นศึกษาและสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ แปลงทดสอบการปลูกต้นไม้ต่างระดับในสภาพยกร่อง และขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาพร้อมกับปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา และนำผลการทดลองจากการปลูกพืชชนิดต่างๆ นำไปปฏิบัติกับพื้นที่ของตนเองต่อไป

พื้นที่แปลงที่สอง เป็นแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่จำนวน 15-2-24 ไร่ ดำเนินการเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรในรูปแบบใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ที่ถือครองโดยเฉลี่ยประมาณ 10 – 15 ไร่ ที่มีสภาพแห้งแล้งขาดแคลนน้ำและธาตุอาหารในดิน ให้มีสภาพที่สมบูรณ์ สามารถทำประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อให้พออยู่พอกินไปตลอดทั้งปี โดยการแบ่งพื้นที่ตามทฤษฎี 30:30:30:10

ส่วนที่ 1 เพื่อขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉลี่ยพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ มีความลึกอย่างน้อย 4 เมตร จุน้ำประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร โดยการรับน้ำจากน้ำฝน และมีระบบท่อส่งน้ำมา เติมจากแหล่งภายนอก คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ราษฎรก็จะสามารถมีน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกได้ตลอดปี รวมทั้งยังสามารถเลี้ยงปลา และปลูกพืชน้ำได้อีกด้วย

ส่วนที่ 2 สำหรับการปลูกข้าว พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ไร่ เพื่อไว้สำหรับบริโภคเอง หากเหลือก็นำไปขายได้ เมื่อพักจากการทำนาข้าวก็มาปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นการเพิ่ม รายได้และเพื่อบำรุงดิน

ส่วนที่ 3 สำหรับการปลูกพืชไร่ พืชสวนแบบผสมผสาน พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ไร่ เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

ส่วนที่ 4 สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคต่างๆ และสำหรับปลูกพืชสวนครัว พื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ไร่

กรณีตัวอย่าง นายทองสุขและนางสว่าง พิมสาร เกษตรกรที่มีที่ดินอยู่ติดกับแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กล่าวโดยสรุป ดังนี้

เริ่มแรกได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างแหล่งน้ำและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นจากภาคเอกชนสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวน 19 ไร่ แบ่งออกเป็นนาข้าว 5 ไร่ จะปลูกข้าวในฤดูฝน ในฤดูแล้งจะปลูกพืชผักแทน แปลงไม้ผล 6 ไร่ แปลงมะลิ 1.5 ไร่ สระน้ำ 1.5 ไร่ สำหรับใช้เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงปลาไว้กิน พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่บ้าน ถนน ลานอเนกประสงค์ คูน้ำ และคันดิน ในส่วนของรายได้ในแต่ละปี ช่วงก่อนที่จะมาทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่มีรายได้จากข้าวนาปีเพียงอย่างเดียว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่หลังจากที่ได้ทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่แล้วมีรายได้จากการขายผลผลิตหลายชนิด เฉลี่ยแล้วประมาณ 300,000 บาทต่อปี ซึ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเก่ามาก ความเป็นอยู่ไม่ถึงกับร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ยากจนอดอยาก มีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง


2. โครงการขุดสระเก็บกักน้ำตามแนวทฤษฎีใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

การนำทฤษฎีใหม่มาทดลองปฏิบัติที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำทฤษฎีใหม่ไปทดลองทำที่บ้านแดนสามัคคี หมู่ที่ 13 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ชื่อโครงการว่า โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการดำเนินงานของโครงการเป็นการจัดทำแปลงทดลองหรือแปลงสาธิต ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการปลูกข้าวโดยปัญหาหลักที่พบคือ เมื่อปลูกข้าวแล้วมีแต่รวงข้าวไม่มีเมล็ดเพราะขาดแคลนน้ำ จึงได้มีการริเริ่มขุดสระน้ำ โดยใช้เนื้อที่ 3 ไร่ ความจุ 12,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้กักเก็บน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีน้ำจากที่อื่นมาเพิ่มเติม สำรองไว้ใช้ทำการเกษตรสำหรับที่นาจำนวน 3 ไร่ 3 งาน และพืชไร่พืชสวน จำนวน 6 ไร่ ได้อย่างพอเพียง โดยในช่วงที่แล้งที่สุดจะมีน้ำเหลืออยู่ในสระ วัดจากก้นสระขึ้นมาประมาณ 1.50 – 1.75 เมตร หลังจากขุดสระเก็บน้ำเสร็จ จึงมีการดำเนินงานในขั้นต่อไปตามแนวทฤษฎีใหม่ (30:30:30:10) โดยแบ่งพื้นที่ 13 ไร่ 3 งาน เป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 สระน้ำ ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใช้เป็นแหล่งน้ำในการเกษตร อุปโภค และเลี้ยงปลา

ส่วนที่ 2 ที่นา ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใช้ปลูกข้าวและพืชไร่หลังนา

ส่วนที่ 3 ทำเกษตรผสมผสาน ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ใช้ปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก

ส่วนที่ 4 พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ถนน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน

การดำเนินงานจะเป็นรูปแบบเกษตรผสมผสาน มีการปลูกพืชร่วมกัน เลี้ยงหมูร่วมกับการเลี้ยงปลา โดยเน้นการใช้ปัจจัยจากพื้นที่ ซึ่งจากผลการดำเนินงานพบว่า พระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเกษตร ช่วยให้พื้นที่ปลูกข้าวไม่ประสบปัญหาขาดน้ำตลอดฤดูการปลูกเพราะสามารถรับน้ำจากสระได้ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ ร้อยละ 70 จึงชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรสามารถปลูกข้าวในพื้นที่จำกัด แต่ได้ผลผลิตเพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี น้ำที่เหลือจากการปลูกข้าวก็สามารถนำไปใช้ในการปลูกพืชไร่หลังนา พืชไม้ผล และพืชผักสวนครัวได้ ทำให้เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี และมีเหลือขายเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกด้วย

กรณีตัวอย่าง นายเตียน ไพยสาร อายุ 70 ปี และนายใย แลผดุง อายุ 56 ปี เกษตรกรซึ่งทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่จนประสบความสำเร็จ ได้กล่าวไว้ว่า

เริ่มแรกได้ขอความช่วยเหลือในการขุดสระน้ำจากอำเภอเขาวง และทางราชการได้ให้การสนับสนุนขุดสระน้ำขนาด 1 ไร่ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ในที่ดินข้างๆ สระน้ำคนละ 11 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 8 – 9 ไร่ พื้นที่รอบๆ ขอบสระประมาณ 2 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ และไม้ผลต่างๆ เช่น มะขามหวาน มะพร้าว มะละกอ ฝรั่ง มะม่วง เป็นต้น ส่วนในสระน้ำก็เลี้ยงปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่พื้นเมือง และเป็ดอีกด้วย ซึ่งจากเดิมนั้น ทำนาเพียงอย่างเดียว พอหมดหน้านาก็ว่างไม่มีงานทำ แต่พอทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ต้องทำงานตลอดทั้งปี พอหมดหน้านาพืชผักเกือบทุกชนิดก็จะให้ผลผลิต ส่วนพวกไม้ผลบางส่วน เช่น กล้วย ก็เริ่มให้ ผลผลิต จึงทำให้มีอาหารบริโภคตลอดทั้งปี หากยิ่งขยันทำมากก็จะมีผลผลิตเหลือพอที่จะขายเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกด้วย


3. โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสภาวะว่างงานจำนวนมาก จะเห็นได้ว่ามีแรงงานบางส่วนต้องกลับไปอยู่ชนบทเพื่อไปรับจ้างต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีราษฎรถวายฎีกาขอความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพต่างๆ จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้พระองค์ท่านได้พระราชทานความช่วยเหลือ โดยให้จัดหาพื้นที่เพื่อจัดสร้างฟาร์มตัวอย่างขึ้น ณ บริเวณหนองหมากเฒ่า บ้านนาดำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยให้ชื่อว่า “ฟาร์มตัวอย่าง

หนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริฯ จังหวัดสกลนคร”

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างงานให้กับราษฎรที่ยากจน หรือประสบปัญหาเศรษฐกิจ ที่ประสงค์มีความรู้ทางการเกษตรนำไปประกอบอาชีพได้
  2. เพื่อแสดงถึงการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม (Agricultural Appropriate Technology) มาผลิตเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ
  3. เพื่อแสดงถึงขั้นตอน และวิธีการในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้เหมาะสม (Applied Technology) และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้
  4. เพื่อเป็นแหล่งสาธิต (Demonstration) เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมแก่ผู้เยี่ยมชม และผู้สนใจทั่วไป

แนวทางการดำเนินงาน

การดำเนินงานของฟาร์มฯ เป็นไปในลักษณะของการเกษตรแบบผสมผสาน (Integrated Agriculture) โดยการนำหลายๆ หลักการมาปรับใช้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดสารพิษ (Pesticide Free) มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ เช่น
  1. การปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด แบบต่อเนื่องที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน
  2. การปลูกพืชต่างระดับ โดยคำนึงถึงธรรมชาติของพืชที่จะอยู่ร่วมกันได้ โดยการนำพืชยืนต้นตระกูลถั่วและพืชที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาร่วมปลูก
  3. ดำเนินการในหลักการของเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) คือ ผู้บริโภคยั่งยืนผู้ผลิตยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
  4. การนำเทคโนโลยีทางด้านอารักขาพืชของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ (Bio - control)
  5. ดำเนินการภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้มีความหลากหลายทางด้านชนิดอาหาร (Food Resource Diversity) มากกว่าผลิตแต่ละชนิดในปริมาณมากๆ และนำการแปรรูปมาเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น (Value Added)
  6. เมื่อฟาร์มฯ มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถปรับให้เป็นไปตามแนวทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองได้


4. นายประยงค์ รณรงค์ เกษตรกรอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายประยงค์ รณรงค์ อายุ 67 ปี อาศัยอยู่ที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเกษตรกรที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน ประจำปี 2547 นอกจากนั้นยังได้รับประกาศเกียรติคุณอื่นๆ อีกหลายรางวัล เนื่องจากนายประยงค์เป็นผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานเพื่อชุมชนมาตลอด 20 ปี โดยมีหลักการดำเนินชีวิตตามแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” ผลงานของเกษตรกรรายนี้เริ่มต้นจากการเผชิญปัญหาในเรื่องของยางพารา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนภาคใต้ แต่เป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงเพราะผลผลิตขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลก ความมั่นคงที่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล เกษตรกรชาวสวนยางไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตของตนเองเลย จึงมีความคิดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยร่วมมือกับผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำแผนพัฒนายางพาราไทยขึ้น ด้วยการรวมกลุ่มสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายช่วยเหลือกัน เรียนรู้ร่วมกันนำไปสู่การตั้งเครือข่ายยางพาราไม้เรียงขึ้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาและอื่นๆ ได้ แต่กระนั้นก็มีความเห็นว่า เกษตรกรในภาคใต้ไม่ควรฝากความหวังไว้กับยางพาราเพียงอย่างเดียว เพราะยางพารากินแทนข้าวไม่ได้จะต้องทำยางให้เป็นเงิน แล้วเอาเงินไปแลกทุกอย่างที่ต้องกินต้องใช้ซึ่งเป็นทางอ้อม จึงได้วางโครงการสร้างการเรียนรู้ในชุมชนขึ้น และกลายเป็นที่มาของแผนแม่บทชุมชนในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังได้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงขึ้น เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่คนในชุมชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรในการพัฒนาอาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริม ซึ่งเป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ โดยจัดหลักสูตรรวม 8 หลักสูตร คือ การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงปลาน้ำจืด การเพาะเลี้ยงไก่พื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงเห็ด การเพาะเลี้ยงสุกร การผลิตอาหารสัตว์ การแปรรูปข้าว การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ หลักสูตรอาชีพทั้ง 8 หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้โดยเน้นการปฏิบัติจริง และนำมาพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนได้นำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีการขยายความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน อำเภอ จังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ จนเกิดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างองค์กรขึ้นอีกหลายกิจกรรม อาทิเช่น “เครือข่ายยมนา” อันเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 3 กลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มยางพารา กลุ่มไม้ผล และกลุ่มทำนา โดยจัดเป็นสถานที่ศึกษา เรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรให้คุ้มค่า และเป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่านายประยงค์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายมาก มีโอกาสที่จะหาผลประโยชน์ในการทำธุรกิจได้แต่ก็ไม่คิดโลภแต่อย่างใด กลับมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ให้ กับคนรุ่นหลังโดยเน้นองค์ความรู้ 5 ด้าน คือ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการองค์กร องค์ความรู้ด้านการจัดทำแผนแม่บทชุมชน องค์ความรู้ด้านการจัดการยางพารา องค์ความรู้ด้านวิสาหกิจชุมชน และองค์ ความรู้การจัดการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งล้วนผลักดันให้ชุมชนมีความอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งตนเองได้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าที่นำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ในการดำเนินงาน นั่นเอง