รางวัลฯ-องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ

จาก WIKI84
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
คำประกาศสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในโอกาสที่องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ ประเทศแคนาดา

ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำและทรงชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันพุธ ที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐


องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ที่ทรงเป็นผู้นำและทรงชี้แนะแนวทางแก่โครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการใช้เกลือไอโอดีน ทั่วประเทศไทย และเพื่อการดำเนินกระบวนการในอันที่จะนำไปสู่การขจัดปัญหา โรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างยั่งยืน

องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ มีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน ให้หมดไปจากทุกประเทศทั่วโลกโดยถาวร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา ได้รับรององค์การสภาการควบคุมโรค ขาดสารไอโอดีนนานาชาติว่ามีสถานะเป็นองค์กรเอกชนระดับนานาชาติ กิจกรรมต่างๆ ขององค์การได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาค และเงินทุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนา ระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา องค์กรริเริ่มด้านจุลโภชนาการ กระทรวงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งเนเธอร์แลนด์ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ องค์กรเพื่อการพัฒนาประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และอื่นๆ

องค์การสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติตระหนักดีว่า ในการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน จำเป็นจะต้องมีเครือข่ายกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนของเหล่าผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล ในสาขาโภชนาการ สุขอนามัย การศึกษา เกษตรกรรม การผลิตเกลือ การจัดหาวัตถุดิบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การให้การศึกษาแก่สาธารณชน และจะต้องให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน พันธกิจที่องค์การได้รับมอบหมายก็คือ การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริง เพื่อยุติโรคขาดสารไอโอดีนที่แฝงเร้นอยู่โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว

อาการผิดปกติที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีน หมายถึง ปัญหาด้านสุขภาพนานาประการที่เกิดขึ้นจากการขาดสารไอโอดีนในอาหาร ไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญ ในการทำงานของต่อมไทรอยด์ และไอโอดีนมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างเป็นปรกติของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมองและสมรรถภาพด้านสติปัญญา

ประชากรประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านคน ใน ๑๑๐ ประเทศบนพื้นโลก อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ขาดสารไอโอดีนและไม่มีอาหารทะเลอันอุดมด้วยไอโอดีน หรือมิฉะนั้น อาหารทะเลดังกล่าวมิได้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารพื้นบ้าน ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นด้วยความจริงที่ว่าเหล่าบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีน ไม่มีทางได้รับอาหารที่อุดมด้วยสารไอโอดีน เนื่องจากพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกและปศุสัตว์ที่เลี้ยงในบริเวณนี้ได้รับผลกระทบจากการที่พื้นดินขาดสารไอโอดีน สิ่งนี้นำไปสู่ผลสืบเนื่องร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ และหากรุนแรงก็จะทำให้เกิดโรคคอพอก การแคระแกร็น สภาวะปัญญาอ่อน ภาวะทุเจริญพันธุ์ อัตราการตายก่อนและหลังคลอด และการตายของทารกเพิ่มขึ้น การศึกษาพบว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณขาดสาร ไอโอดีนจะมีระดับไอคิวต่ำกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณอุดมด้วยไอโอดีนถึง ๑๓ จุด

ความเสียหายอันมีสาเหตุจากการขาดสารไอโอดีนนั้นรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงว่าวิธีการแก้ไขค่อนข้างจะง่ายมากทีเดียว เกลือเพียงหนึ่งช้อนชา เป็นสิ่งที่คนแต่ละคนต้องการตลอดชีวิต แต่ไอโอดีนไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายอยู่เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นจึงต้องการปริมาณเกลือเล็กน้อยอยู่เสมอ สิ่งนี้ทำได้โดยการเสริมสร้างด้านอาหารและอาหารเสริม เกลือผสมไอโอดีนและอาหารเสริมประเภทน้ำมัน ผสมไอโอดีนเป็นอาวุธที่ธรรมดาสามัญที่สุด ในการต่อสู้กับโรคขาดสารไอโอดีน ราคาของการเติมไอโอดีดในเกลือ คือ ๐.๐๕ เหรียญสหรัฐ ต่อหนึ่งคนต่อหนึ่งปี ถูกกว่าทราคาน้ำชาเพียงถ้วยเดียว อัตราต้นทุนต่อกำไรของโครงการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน คือ ๑.๓ ถ้านำกำไรที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์และการศึกษาเข้ามารวมด้วย อัตราต้นทุนต่อกำไรก็จะสูงถึง ๑:๑๐ และเพราะเหตุที่จะต้องบริโภคไอโอดีนปริมาณเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น โครงการที่จะประสบผลสำเร็จต้องเป็นโครงการที่ต่อเนื่องตลอดไป ประชากรรุ่นต่อไปในอนาคต จะได้ไม่ต้องรับผลกระทบจากอันตรายอันเนื่องมาจากภาวะขาดสารไอโอดีน

การขจัดโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความกระตือรือร้นโดยไม่ย่อท้อ ความต่อเนื่อง และความสามารถในอันที่จะจัดการอย่างสร้างสรรค์กับ ปัญหาสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษและยังคงเกิดขึ้นต่อไป

ตลอดช่วงเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะควบคุมและป้องกันการโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวเพิ่งจะครอบคลุม ได้ทั่วประเทศเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ด้วยความร่วมมือจากองค์การยูนิเซฟ รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในกลางทศวรรษที่จะขจัดโรคขาดสารไอโอดีน อย่างแท้จริง นั่นคือการลดมลภาวะขาดสารไอโอดีนในนักเรียนระดับประถมศึกษาให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๕ และพยายามธำรงผลสำเร็จดังกล่าวนั้นไว้ ได้มีการใช้มาตรการเกลือเสริมไอโอดีนเป็นยุทธศาสตร์เบื้องต้น โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การควบคุมดูแลอย่างต่อเนื่องและการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ดัชนีชี้วัดอัตราการเกิดโรคคอพอกทั้งหมดบ่งบอกว่าเป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล แม้ว่าบางอำเภอจะยังคงมีอัตราการเกิดโรคคอพอกมากกว่าร้อยละ ๕ การใช้มาตรการเกลือเสริมไอโอดีน เป็นหนทางเดียวที่จะควบคุมอัตราเหล่านั้นให้อยู่ในระดับต่ำ จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ และรัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน

ความสนพระราชหฤทัยและห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อสถานการณ์การขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ได้มีส่วนผลักดันโครงการรณรงค์ขจัด โรคขาดสารไอโอดีนของกระทรวงสาธารณสุขให้อยู่ในลำดับต้นๆ นับย้อนหลังไปเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มโครงการนำร่อง ในการเติมไอโอดีนในเกลือที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นพระบรมราโชบาย ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกลยุทธ์ การเติมไอโอดีนในเกลือที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกใช้ ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงปรารภให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการในจังหวัดเชียงใหม่ทราบถึงการที่ทรงห่วงใยปัญหาภาวะการขาดสารไอโอดีนที่เกิดขึ้น และความสำคัญ ของการเติมสารไอโอดีนในเกลือที่จะต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกสุดเพื่อยุติการทำลายสมองในเด็กและผู้ใหญ่เท่าที่จะสามารถป้องกันได้ ทั้งยังทรงปรารภถึงความสนพระราชหฤทัย ในการที่ผู้ผลิตเกลือรายย่อยจะพัฒนาเทคโนโลยีในการเติมสารไอโอดีนที่เหมาะสม ซึ่งด้วยแรงบันดาลใจจากแนวพระราชดำรินี้ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้พัฒนาเครื่องเติมสารไอโอดีน ขนาดกลางโดยใช้หลักการของเครื่องผสมปูนซีเมนต์ ในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เครื่องผสมดังกล่าวกันทั่วประเทศและได้ส่งเครื่องต้นแบบออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ในระยะหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการศึกษา "เส้นทางเกลือ" เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจดีขึ้นในเรื่องการผลิตและแจกจ่ายเกลือไปทั่วประเทศ โดยอาศัยความรู้ดังกล่าวนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ผลิตเกลือ ในการเติมสารไอโอดีนในเกลืออย่างพอเพียง และกระจายแพร่หลายออกไป

เมื่อไม่นานมานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเกลือเติมสารไอโอดีนแก่กระทรวงสาธารณสุข และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แจกจ่ายเกลือดังกล่าวไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีดังกล่าวบนถุงเกลือพิเศษ ซึ่งรู้จักกันในนาม "เกลือของพระเจ้าอยู่หัว" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องค์กรต่างๆ ที่แจกจ่ายเกลือทำข้อตกลงให้ประชาชนสัญญาว่า จะซื้อเกลือเสริมไอโอดีนเพื่อพระองค์และ ใช้เกลือนั้นอย่างสม่ำเสมอในครัวเรือน เมื่อต้นพุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้มีการจัดงานพิธีใหญ่เป็นปฐมฤกษ์ชื่อว่า "เกลือเสริมไอโอดีนพระราชทานสู่ครัวไทย" ซึ่งสมเด็นพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเป็นประธานในพิธีดังกล่าว นับว่าโครงการนี้ช่วยตอกย้ำให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องโรคขาดสารไอโอดีนได้มากทีเดียว

โครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนได้รับประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ จากความสนพระราชหฤทัยและการพระราชทานความสนับสนุนของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังได้พระราชทานแรงจูงใจแก่คนนับพันนับหมื่นที่ทำงานในแต่ละวันให้รู้จักป้องกัน และควบคุมโรคที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน และความอ่อนแอโดยไม่จำเป็นอย่างสิ้นเชิงอีกทั้งยังได้ทรงเน้นย้ำถึงกิจกรรมและความสำคัญของโครงการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้เด่นชัดยิ่งขึ้นในสายตา ของสาธารณชน จึงเกิดความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มชนหลายกลุ่มและระหว่างกลุ่มจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งแผ่ขยายไปในวงกว้างกว่าที่จะเป็นได้ด้วยวิธีอื่น ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ และได้ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการขจัดการขาดสารไอโอดีน


(ลงนาม) นายบาซิล เอส. เฮทเซล ประธานองค์การ
(ลงนาม) นาย เอฟ. เดลันจ์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การ
(ลงนาม) นายชานดราคาน เฮส. ปานดาบ ผู้ประสานงานส่วนท้องถิ่น






ประธานสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
ประธานสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณ
นายบาซิล เอส. เฮทเซล ประธานสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ
ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำและทรงชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา
โรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันพุธ ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐
ใบประกาศเกียรติคุณที่สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ใบประกาศเกียรติคุณที่สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ใบประกาศเกียรติคุณที่สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย



หน้าแรกประมวลคำสดุดีพระเกียรติคุณฯ บัญชีปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ บัญชีตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ฯ บัญชีรางวัลฯ พระราชกรณียกิจ