ผลต่างระหว่างรุ่นของ "01.คำนำ-หญ้าแฝกดอยตุง"

จาก WIKI84
ไม่มีความย่อการแก้ไข
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 05:25, 3 กันยายน 2551

สารบัญ

คำนำ

การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวชิดหรือเขื่อนพืชเพื่อป้องกันการพังทลายของดินเป็นเทคโนโลยีเหมาะสมที่ชาวเมืองไมเซอร์ ประเทศอินเดียใช้มากว่า 200 ปี ธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกาตีพิมพ์หนังสือคู่มือเรื่องหญ้าแฝกแนวป้องกันการพังทลายของดินมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2530 ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2533 ตีพิมพ์เพื่อแจกเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจทั่วโลกถึง 45,000 เล่ม แม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถกระตุ้นความสนใจให้มีผู้นำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในประเทศไทยมีผู้ที่รู้เรื่องหญ้าแฝกนับตัวคนได้ และเมื่อรู้แล้วก็นิ่งไว้เก็บเป็นความรู้เฉพาะตัว

เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว เคยมีการนำหญ้าแฝกหอมจากประเทศมาเลเซียเข้ามาทดลองปลูกในภาคใต้ของประเทศไทย โดยปลูกแซมระหว่างแถวยางพารา ในขณะที่ต้นยางพารายังมีอายุไม่มากพอที่จะทำการกรีดเอาน้ำยางได้ เพื่อให้ชาวสวนยางสามารถขุดรากนำมาขายก่อนที่จะมีรายได้จากการกรีดยาง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากรากหญ้าแฝกหยั่งลึกลงในดิน ทำให้ขุดได้รากไม่มากนักไม่คุ้มค่าใช้จ่ายหญ้าแฝกจึงถูกลืมไป

จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก โดยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้หน่วยราชการต่างๆ และภาคเอกชนนำหญ้าแฝกมาทดลองปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลาย ความสนใจเรื่องหญ้าแฝกจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ในต่างประเทศก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อขึ้นจนกระทั่ง International Erosion Control Association ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อต้นปี พ.ศ.2536 ในฐานะที่ทรงเผยแพร่สนับสนุนหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้เริ่มทดลองปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2535 จนบัดนี้ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลของหญ้าแฝกจากแหล่งต่างๆ ที่นำมาทดลองปลูกในพื้นที่ดอยตุง การศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหญ้าแฝกชนิดต่างๆ การศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ การศึกษาความสามารถในการกระจายของรากลงในดิน ประโยชน์ในการป้องกันดินพังทลายและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งในพื้นที่โครงการและนอกพื้นที่ การนำใบหญ้าแฝกมาทำไพหญ้าแฝกมุงหลังคา การใช้ใบหญ้าแฝกในงานหัตถกรรม ฯลฯ

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้เจ้าหน้าที่ในโครงการศึกษาพัฒนาหญ้าแฝกปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังสติปัญญา จนโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นแหล่งข้อมูลเรื่องหญ้าแฝกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยในปัจจุบัน ข้อมูลที่เกิดจากการศึกษาอย่างจริงจัง เป็นระบบและต่อเนื่อง น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

ในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม พ.ศ.2536 สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงจัดพิมพ์ข้อมูลจากการทดลองศึกษาหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ เพื่อพระราชทานเป็นวิทยาทานแก่หน่วยงาน โรงเรียน ห้องสมุด เป็นการเผยแพร่ประโยชน์ของหญ้าแฝกและสนับสนุนการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำต่อไป

สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริขอขอบคุณ คุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ได้ให้ความสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้