08.ลักษณะโดยทั่วไปและการขยายพันธุ์หญ้าแฝก

จาก WIKI84
สารบัญ

ลักษณะโดยทั่วไป

ต้นแตกกอแน่น เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 2 เมตรหรือกว่านั้น ออกดอกเป็นช่อยาว 15-30 ซม. สีเหลืองปนเทาหรือม่วง ดอกเกิดเป็นคู่ๆ ดอกหนึ่งมีก้านดอก อีกดอกหนึ่งไม่มีก้านดอก ดอกที่ไม่มีก้านดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กล่าวคือมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย ส่วนดอกที่มีก้านดอกเป็นเพศผู้ หญ้าแฝกมีรากยาวและแข็งแรง ที่ปลายรากมีโครงสร้างคล้ายฟองน้ำหุ้ม บางพันธุ์มีกลิ่นหอม เท่าที่สังเกตหญ้าแฝกจากแหล่งต่างๆ ที่นำมาปลูกไว้ในโครงการฯ อาจจำแนกอย่างหยาบๆ ในขณะนี้ออกเป็น 2 พวก พวกที่มาจากแหล่งธรรมชาติและพวกที่มีผู้นำเข้ามาจากต่างประเทศมาปลูกไว้ โดยอ้างว่าเป็นหญ้าแฝกที่รากมีกลิ่นหอม ทั้ง 2 พวกต่างออกดอกที่มีลักษณะและสีสันใกล้เคียงกัน สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะช่อดอก การผลิตเมล็ดและการงอกของเมล็ด ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาอยู่ ความแตกต่างของหญ้าแฝกทั้ง 2 พวก เท่าที่สังเกตพบว่า หญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติมีลำต้นหนาปานกลางรากสั้นกว่า แต่แตกแขนงและกิ่งก้านมากกว่า ส่วนพวกที่มีรากหอมมีลำต้นหนากว่า รากยาวกว่า แต่ไม่แตกแขนงหรือมีกิ่งก้านมากเหมือนพวกมาจากธรรมชาติ

การศึกษาจากเอกสาร Grasses of the Malaya 1971. โดย H.B.Gilliland* พบว่า Vetiveria nemoralis มีกลักษณะดังนี้ เป็นพืชที่อยู่ข้ามปี ลำต้นแตกกอแน่น สูงถึง 75 ซม. กาบใบที่โคนแบนหลวม (ไม่ติดแน่นกับลำต้น) ยาว 3-4 ซม. ไม่มีขน ข้อห่าง ใบยาว 15-20 ซม. กว้าง 3-5 มม. ใบแคบปลายแหลมมักม้วน เกลี้ยงไม่มีขน ขอบใบคม ที่กาบใบมีหูยาว 3 มม. อยู่ด้านโคนใบ ช่อดอกเป็น Panicle ยาว 12 ซม. กว้าง 6 ซม. แขนงของช่อย่อยประกอบด้วยดอกย่อยที่ไม่มีก้าน 1 หรือ 2 ดอก ส่วนดอกที่อยู่ปลายช่อมีก้านและเป็นดอกตัวผู้ ดอกที่อยู่ถัดลงมาเป็นดอกย่อยมีก้าน 1 ดอก มีข้อห่างกัน 5 มม. ก้านช่อดอกต่ำลงมา 2 มม. จะมีขน เกสรตัวผู้มี 3 เกสรตัวเมีย 2 เกสรตัวเมียมีขนมาก


การขยายพันธุ์หญ้าแฝก

โดยที่ถนนในเขตโครงการพัฒนาดอยตุง มีระยะทางยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ดังนั้นจึงได้มีการกระจายแหล่งขยายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ใกล้บริเวณที่จะนำไปปลูกกันดินเลื่อนไหล การขยายพันธุ์ดำเนินการทั้งปักชำลงถุงและชำในแปลงนา การปักชำลงถุงได้จำนวนต้นน้อยกว่าและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการปักชำในแปลงนา แต่การชำลงถุงมีข้อได้เปรียบที่นำไปปลูกในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาดินพังทลายเลื่อนไหลได้ทันที อัตรารอดสูง รากงอกเกาะยึดดินได้ในระยะเวลาอันสั้น

การปักชำในแปลงนาเสียค่าใช้จ่ายในระยะต้นน้อย ทำได้เร็ว เพิ่มจำนวนต้นกล้าได้ 50-100 เท่าในระยะเวลา 1 ปี แต่เมื่อจะนำไปปลูกในพื้นที่ หากเตรียมการไม่ดี เวลาปลูกไม่สอดคล้องกับช่วงฝนตกอัตรารอดจะต่ำ หรือถ้าประสบกับช่วงฝนตกหนัก น้ำฝนจะชะพาหน่อหญ้าแฝกเลื่อนไหลไปจากแนวที่ปลูกทำให้เขื่อนหญ้าแฝกไม่ติดต่อกัน ดังนั้นโครงการฯ จึงใช้วิธีปักชำลงในแปลงนาก่อน แล้วจึงถอนหน่อที่มีรากนำลงปักชำในถุงอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นการทำงาน 2 ครั้ง แต่เป็นวิธีขยายพันธุ์ได้รวดเร็วทันเวลาการใช้ต้นพันธุ์หญ้าแฝกและลดอัตราการสูญเสีย

นอกจากการขยายพันธุ์ตามที่กล่าวแล้ว โครงการยังได้ทดลองการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นเช่น การชำปล้อง/ข้อ การโน้มช่อดอกจนมีรากงอกออกตามข้อ การเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีขยายพันธุ์เหล่านี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งจะกล่าวถึงขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ภายใต้หัวข้อเรื่องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝกต่อไป

การแตกกอและการเจริญเติบโตของรากหญ้าแฝกที่ชำถุง เมื่ออายุต่างๆ กัน

นับตั้งแต่มีการนำหญ้าแฝกเข้ามาในพื้นที่โครงการฯเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 จนถึง 30 มิถุนายน พ.ศ.2536 ได้มีการขยายพันธุ์โดยใช้วิธีการ 2 วิธีในพื้นที่ต่างๆ และสามารถขยายพันธุ์หญ้าแฝกได้ถึง 4,672,000 ถุงหรือประมาณ 18,688,000 ต้น (เฉลี่ยในหนึ่งถุงมีหญ้าแฝก 4 ต้น) สำหรับขยายพันธุ์โดยปักดำ ได้ปักดำในพื้นที่ 20 ไร่ ได้หญ้าแฝกประมาณ 2,000,000 ต้น (เฉลี่ยหนึ่งไร่มีหญ้าแฝก 500,000 ต้น) เมื่อเปรียบเทียบกับแผนปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ.2536 ปรากฏว่าขยายพันธุ์หญ้าแฝกได้เกินเป้ากว่า 3 เท่าตัว โดยในแผนปฏิบัติตั้งเป้าขยายพันธุ์ไว้ 6,000,000 ต้น แต่ขยายได้จริง 20,688,000 ต้น ทั้งนี้ได้หักอัตราเสียหายออกแล้ว ร้อยละ 21.88

อนึ่งในฤดูฝน พ.ศ.2536 โครงการฯ ได้มอบเจ้าหน้าที่การขยายพันธุ์หญ้าแฝกให้ชาวบ้านในบางหมู่บ้านดำเนินการ โดยคิดค่าตอบแทนให้เป็นรายได้เสริม หมู่บ้านที่ดำเนินการขยายพันธุ์ได้แก่ บ้านสี่หลังขาแหย่งพัฒนา ลิเช สามัคคีเก่า ป่าซางนาเงิน ห้วยปูใหม่ สวนป่า สามัคคีใหม่ ผ่าบือ ป่ายางอีก้อ ปางหนุนพัฒนา ป่ายางมูเซอ และจะลอ รวมชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ 16 ราย เนื้อที่ 86 ไร่ 1 งาน คาดว่าจะได้หญ้าแฝกไม่น้อยกว่า 17,250,000 ต้น (เป็นการคาดคะเนขั้นต่ำสุดเพียง 200,000 ต้น/ไร่) สามารถนำไปปลูกเป็นเขื่อนธรรมชาติกันดินพังทลายได้ยาวถึง 1,725 กม. โครงการฯ จะจ้างชาวบ้านนำหญ้าแฝกที่ขยายพันธุ์ได้จำนวนนี้ปลูกในพื้นที่ที่มีปัญหาดินพังทลายต่อไป ถือว่าเป็นรายได้เพิ่มเติมของชาวบ้าน


* Gilliland, H.B., 1791. Flora of Malaya, Volume 3, Grasses of Malaya Lim Bian Han, Government Printer, Singapore, 319p.